คลีน บิวตี้มาแรง ‘endota’ จ่อลงสนาม Health and Wellness

09 ม.ค. 2565 | 05:10 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2565 | 12:10 น.

เปิดเทรนด์ความงาม 2565 เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนลดเมคอัพ หันดูแลสุขภาพผิว-บำบัดอารมณ์ “endota” แบรนด์ดังออสเตรเลีย นำร่องส่งคลีน บิวตี้รุกตลาด ก่อนขยับแนวรบบุก Health and Wellness

เพราะในปี 2565 ทิศทางของตลาดความงาม กลุ่มของเมคอัพมีแนวโน้ม recover ช้า แม้ว่าผู้คนจะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นแต่ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยทำให้เทรนด์การแต่งหน้าเปลี่ยนจากแต่งเต็มเป็นบางเบา ดังนั้นเซ็กเมนต์ที่พอจะ recover กลับมาได้เล็กน้อย

 

คือ กลุ่มดวงตาและคิ้ว แต่ skincare จะยังเติบโตได้ เพราะคนยังให้ความสำคัญกับผิวมากขึ้น นอกจากนี้เทรนด์คลีน บิวตี้ เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่จะเติบโตได้ดีในปี2565 เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่อินกับผลิตภัณฑ์ออแกนิกส์น้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มแอนไทเอจจิ้ง หรือผู้ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ใหญ่

Health and Wellness

นางสาวชนิกานต์ เบญจศิริ Marketing Director at PJ Trading Group-Distributor of endota (เอ็นโดต้า) เล่าให้ฟังว่า จริงๆถ้าในเรื่องของกลุ่มบิวตี้ถ้าพูดในภาพรวมมันก็จะมีทั้งกลุ่ม makeup skincare เทรนด์บิวตี้ในยุคโควิดเมคอัพเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากคนอยู่บ้านมากขึ้นทำให้แต่งหน้าน้อยลงและหันมาให้ความสนใจในการดูแลผิวหน้ามากขึ้น

 

ทำให้ตลาดสกินแคร์เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ที่ยอดขายในช่องทาง marketplace เติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้หลายๆ แบรนด์ต้องหันมาเปิดร้านบนออนไลน์มากขึ้น เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่า marketplace กลายเป็น new normal ในการช้อปปิ้งไปแล้ว

ชนิกานต์ เบญจศิริ

“ปีนี้ตลาดสกินแคร์ที่ไม่ใช่เมคอัพที่ไม่ต้องลองสี หรือเทสต์ผลิตภัณฑ์ ยังเติบโตต่อเนื่อง เพราะจากการที่คนอยู่นานๆจึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะบำรุงผิว และเป็นช่วงที่ทำให้คนเปิดใจและลองแบรนด์ใหม่ๆง่ายขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าจะต้องผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต้องเป็น organic 100% แต่ขอแค่ส่วนผสมที่เลือกมาไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดอันตรายในอนาคตและและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเทรนด์ของคลีน บิวตี้ก็ยังเป็นอีกเทรนด์ที่จะอยู่ต่อไป”

 

สำหรับ endota Thailand ปีนี้ยังคงเติบโตได้ดี แม้ว่าจะนำเข้ามาในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในระยะแรกก็ตามมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ราว 10% ต่อปี ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางการขายหลัก และหลังจากสถานการณ์เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น บริษัทได้เริ่มขยายช่องทางการขายออฟไลน์ผ่าน Pop up store ใน Beauty Hall สยามพารากอน เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และสร้างความคุ้นเคยกับแบรนด์ให้มากขึ้น

 

“ความจริงเรากังวลมากเพราะในช่วงที่นำเข้าสินค้าเข้าเป็นช่วงที่เกิดโควิดพอดี แต่กลายเป็นว่าสินค้ากลุ่มพรีเมี่ยมขายดีมาก เพราะกลุ่มคนรวยของประเทศไม่ได้ออกไปเที่ยวต่างประเทศจึงหันมา shopping กันหนักมาก ตอนที่เรานำเข้ามาแรกๆ แน่นอนว่าเราไม่มีทางเลือกต้องขายออนไลน์ทางเดียว แต่ด้วยความที่แบรนด์ของเราที่มีความคาบเกี่ยวกับ health and wellness หรือผลิตภัณฑ์โฮมสปาซึ่งผู้บริโภคจะต้องมาสัมผัส มาทดลองกลิ่น เราอยากที่จะมีออฟไลน์หรือหน้าร้านมานาน”

Health and Wellness

เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น บริษัทจึงเริ่มเปิด pop up store ที่สยามพารากอน ก่อนจะขยายไปยังโลเคชั่นอื่นๆ เพื่อทดลองตลาดในหลายๆ โลเคชั่น ก่อนจะเลือกโลเคชั่นที่เหมาะสม และเปิดเป็นร้านถาวรควบคู่ไปกับ pop up store ในที่ใหม่ๆ ไปเรื่อยๆเพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆในโซนกรุงเทพฯ เป็นหลักและในหัวเมืองใหญ่ เพราะกำลังซื้อต่างจังหวัดค่อนข้างเยอะแต่มีตัวเลือกน้อย ซึ่งจะเห็นสโตร์ภายใน 2-3 ปีนี้

 

“สปา” เป็นอีกเป้าหมายที่ endota มุ่งหวัง จากปัจจุบันที่ได้รับความนิยมอย่างมากและเป็นแบรนด์สปาเบอร์ 1 มีชื่อเสียงและมีสาขามากกว่า 100 สาขาในออสเตรเลีย โดยในช่วงแรกจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าคนไทย ซึ่งนิยมใช้สปาเพื่อความผ่อนคลายมากขึ้นประกอบกับประเทศไทยเองยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามาก ซึ่งภาพของธุรกิจสปา จะชัดเจนขึ้นใน 3 ปี

 

“endota ที่ออสเตรเลียเป็น number one ในเรื่องของ health and wellness ซึ่งเราเริ่มที่จะเปิดตัวแบรนด์ด้วยสกินแคร์ก่อนและพยายามที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ home spa เข้ามาเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า แบรนด์ของเราไม่ใช่แค่สกินแคร์แบรนด์หรือ beauty brand แต่เป็น health and wellness ที่ดูแลทั้ง body and mind ด้วย และเมื่อมีการเปิดประเทศ ชาวต่างชาติเริ่มกลับมา สปาหรือการนวดจะเป็นธุรกิจที่จะได้รับการตอบรับที่ดี เพราะประเทศไทยโด่งดังในเรื่องของ wellness เป็น destination ในกลุ่มนี้ และจะเป็นโอกาสของ endota ด้วย”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,746 วันที่ 6 - 8 มกราคม พ.ศ. 2565.