วันนี้ ( 9 กุมภาพันธ์ 2565) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ และรองนายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมฯ ด้วย
ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาและเห็นชอบสถานที่จัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และสถานที่จัดงานเลี้ยงอาหารค่า (Gala Dinner) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำและคู่สมรส ณ หอประชุมกองทัพเรือ
โดยประเทศไทยได้เปิดศักราชใหม่ 2565 ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคและการเป็นผู้นำในการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วภูมิภาค พร้อมปรับกระบวนทัศน์สู่การฟื้นฟูครั้งใหญ่รับความท้าทายหลังวิกฤติ COVID-19 ที่ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.) เป็นการเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ต่อทุกโอกาส เปิดโอกาสด้านการค้าการลงทุนในทุกมิติ ฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงัก และสร้างสมดุลในทุกแง่มุม โดยมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ครอบคลุม ยั่งยืน และคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy (Bio-Circular-Green)
ในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการเตรียมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยกระทรวงคมนาคมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 14 - 16 กันยายน 2565 ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะใช้เวทีดังกล่าวในการนาเสนอโครงการสาคัญ ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกันระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ
ได้แก่ โครงการ MR-MAP ซึ่งจะบูรณาการโครงข่ายการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และโครงการ Southern Land Bridge ชุมพร - ระนอง เพื่อลดระยะทางและพลังงานในการขนส่งสินค้าจากตะวันออกกลางมายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนมาเป็นระบบรางให้มากขึ้น ลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง การสนับสนุนการจัดทำแนวทางด้านการขนส่งคนและสินค้าตามมาตรฐานสากล อาทิ ICAO และ IMO เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมโยงและความเชื่อมั่นในการเดินทางและการท่องเที่ยวภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาคคมนาคมขนส่ง และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด อาทิ เรือพลังงานไฟฟ้า รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า รถไฟพลังงานไฟฟ้า และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กำหนดจะเปิดให้บริการภายในวันที่ 10 กันยายน 2565 รับการประชุมเอเปค โดยศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่มีพื้นที่มากขึ้นถึง 5 เท่า คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 280,000 ตารางเมตร มีพื้นที่รองรับการจัดการประชุมและนิทรรศการมากถึง 78,500 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยฮอลล์สำหรับการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ พื้นที่รวมมากกว่า 45,000 ตารางเมตร ห้องสำหรับจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง พื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร และห้องประชุมย่อยที่สามารถรองรับการประชุมได้กว่า 50 ห้อง เพิ่มที่จอดรถให้สามารถรองรับได้มากกว่า 2,700 คัน เปิดทางเชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน ภายใต้งบประมาณในการพัฒนาโครงการรวมกว่า 15,000 ล้านบาท ตอกย้ำการเป็นสุดยอดศูนย์การประชุมใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย