สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทย ในปี 2565 มีความท้าทายไม่น้อย หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยืนยันเป้าหมายที่จะสร้างรายได้รวม 1.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการฟื้นตัว 50% ของรายได้รวมปี 2562 ในช่วงก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด-19
โดยเป้าหมายดังกล่าว แบ่งเป็น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน สร้างรายได้ 8 แสนล้านบาท ขณะที่ไทยเที่ยวไทย น่าจะทำได้ 160 ล้านคน-ครั้ง หรือสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 6.56 แสนล้านบาท
ความเป็นไปได้ของเป้าหมายที่ว่า เริ่มเห็นเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น หลังจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สั่ง ททท. หารือกับ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท
โดยขอจัดสรรเงินกู้ที่เหลืออยู่ตอนนี้ 44,192 ล้านบาท มากระตุ้นภาคท่องเที่ยว ผ่านโครงการบูสเตอร์ช็อต (Booster Shot) วงเงิน 1,035 ล้านบาท ตามแผนจะเน้นกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ วงเงิน 882 ล้านบาท ด้วยการส่งเสริมและหาทางกระตุ้นการเดินทาง โดยร่วมมือกับธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงแรม และรถโดยสารนำเที่ยว
หากทำสำเร็จ จะถือเป็นข่าวดีต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
"ณีรนุช ไตรจักร์วนิช" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพท่องเที่ยว เกี่ยวกับการจำหน่าย "อี-วอเชอร์" ที่พัก ร้านอาหาร แพ็คเกจทัวร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อยากเห็นข่าวดีกับภาคการท่องเที่ยวเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะส่วนตัวมองว่า ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป การท่องเที่ยวภายในประเทศน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีมาตรการของรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน
“สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยตอนนี้เห็นได้ชัดว่า ดีขึ้นกว่าเดิมเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2565 ก็เติบโตขึ้นกว่าช่วงแรกที่ซบเซาไปจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น แถมยังมีแนวโน้มโตต่อเนื่องถึงสิ้นปี และยิ่งถ้ามีมาตรการภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนอีก เชื่อว่า ในปีหน้า การท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดได้”
ทั้งนี้สะท้อนได้จากปัจจุบัน บริษัท มาคาเลียส (Makalius) มียอดจำหน่าย อี-วอร์เชอร์ท่องเที่ยว เริ่มขยายตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกปี 2565 นี้ หลังจากรัฐผ่อนคลายมาตรการการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายอี-วอร์เชอร์ ทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร กลับมาขยายตัวดี
โดยภาพรวมของยอดขายอี-วอร์เชอร์ ด้านการท่องเที่ยวนั้น พบว่า กลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตมากที่สุดคือ อี-วอร์เชอร์อาหาร โดยเฉพาะวอเชอร์เรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งเรือขนาดใหญ่และขนาดกลาง กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยบางสัปดาห์สามารถจำหน่ายได้หลัก 1,000 วอเชอร์
เช่นเดียวกับร้านอาหารในกรุงเทพฯ ก็ยังมียอดที่เพิ่มขึ้น เช่น ใบหยกสกาย บุฟเฟต์ ที่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ส่วนวอเชอร์โรงแรม และที่พัก ปัจจุบันมีผู้สนใจซื้ออี-วอเชอร์ ต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว หรือช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ปัจจุบันมีผู้เข้ามาซื้อยาวไปถึงช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ปลายปี 2565 นี้
โดยส่วนใหญ่นิยมจองโรงแรมจังหวัดท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ เช่น พัทยา และหัวหิน เป็นหลัก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งกลุ่มครอบคลุม เพื่อน คู่รัก และพนักงานบริษัท ที่ต้องการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดไม่ไกลมากนัก
ขณะเดียวกันด้วยตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัว ล่าสุดบริษัทยังได้ขยายการขายแพ็คเกจทัวร์ไปต่างประเทศ เริ่มต้นจากมัลดีฟส์ เพราะเห็นความต้องการของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นผลมาจากมัลดีฟส์ เปิดประเทศ และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ
อีกทั้งในอนาคตยังเล็งขยายแพ็คเกจทัวร์ไปยังประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และเวียดนาม เบื้องต้นก็กำลังพิจารณาจัดทำแพ็คเกจทัวร์ประเทศเพื่อนบ้านออกมาในช่วงเดือนตุลาคม 2565 นี้
“ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายวอเชอร์ให้ได้ 120 ล้านบาท ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับช่วงพีคก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประมาณปี 2561 ซึ่งมียอดขาย 160 ล้านบาท หลังจากเห็นทิศทางการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวชัดเจน พร้อมทั้งยังหาช่องทางอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้”
น.ส.ณีรนุช ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงกรณีวอเชอร์ทิพย์บุฟเฟ่ต์ร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งอาจสร้างความกังวลใจกับภาพลักษณ์ของธุรกิจการจำหน่ายวอเชอร์ด้วยว่า บริษัทในฐานะที่เป็นตัวแทนการจำหน่ายวอเชอร์ อยากแนะนำให้ผู้ซื้อควรตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ และควรเลือกซื้อวอเชอร์กับตัวแทนที่มีความน่าเชื่อถือ โดยขอให้มั่นใจว่า บริษัทเองมีมาตรการคัดกรองผู้ประกอบการที่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้ออีกทางหนึ่ง