แนะ ‘กสทช.’ หลังควบรวมทรู-ดีแทค ต้องสร้าง MVNO ช่วยคนไทยเข้าถึงเครือข่าย

05 ต.ค. 2565 | 12:34 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2565 | 21:59 น.

"นักวิชาการ" วิเคราะห์หลังควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค ประเทศไทยจะมีคุณภาพเครือข่ายที่ดีอันดับต้นๆ ในเอเชีย เสนอ กสทช. ควรพิจารณาเพิ่มเติมเงื่อนไขต้องสร้าง MVNO

รศ.ดร.สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า การรวมกิจการทรูและดีแทคได้เข้าสู่โค้งสุดท้ายในการพิจารณาเงื่อนไข สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการรวมกิจการ คือ คนไทยจะได้ใช้เครือข่าย (Network) ที่ดีขึ้น และสามารถพัฒนาเป็นเครือข่ายที่ดีอันดับต้น ๆ ในเอเชีย ในราคาค่าบริการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับและควบคุม

 

ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ที่มากที่สุด คือ “ความครอบคลุม (Coverage)” ดังนั้น หากรวมกิจการแล้ว ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการรวมคลื่นทำให้เข้าถึงสัญญานทุกที่ทั่วไทย ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น คำถามที่ตามมา คือ เมื่อรวมกิจการและมีเครือข่ายแข็งแกร่งแล้ว จะมีการนำเครือข่ายที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นมาสร้างให้เกิดผู้ประกอบการที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operators) หรือ MVNO  หรือไม่

 

ถือเป็นโจทย์ที่ กสทช. ควรนำมาตั้งเป็นเงื่อนไขแม้ว่าเอกชนได้ลงทุนสูงไปมากแล้วในการขยายโครงข่าย เพราะการที่ กสทช. บังคับให้ทุกรายเอาเครือข่ายออกมาให้ MVNO รายใหม่ใช้ด้วยบางส่วนนี้ คนไทยจะสามารถเข้าถึงเครือข่ายที่ดี และมีการแข่งขันมากขึ้น
 

ปัจจุบันโครงสร้างผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ให้บริการที่มีสิทธิ์ในโครงข่าย (Mobile Network Operators-MNOs) ซึ่งได้รับสิทธิ์หรือใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และมีโครงสร้างพื้นฐานหรือมีโครงข่ายของตนที่สามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้โดยอิสระ แบ่งเป็น 1.ผู้ประกอบการที่เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ บมจ. ทีโอที (TOT) และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) 2.ผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้แก่ กลุ่มบริษัท AIS (บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค: AWN) กลุ่มบริษัท DTAC (บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น: DTAC และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต: DTN) และกลุ่มบริษัท TRUE (บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น: TUC)
 

กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operators: MVNOs) ซึ่งสามารถให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้โดยไม่มีใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และไม่มีโครงข่ายเอง  แต่ประกอบกิจการโดยเช่าใช้ความจุโครงข่ายของรัฐวิสาหกิจ (TOT และ CAT) และบางรายเป็นตัวแทนขายส่งขายต่อ (Wholesale-resale) บริการสู่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการที่ให้บริการบนโครงข่ายของ TOT ได้แก่ บริษัท โมบาย เอท เทลโค (ไทยแลนด์) (Buzzme)  และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (TuneTalk) และ 2) ผู้ประกอบการที่ให้บริการบนโครงข่ายของ CAT ได้แก่ บริษัทเรียล มูฟ (Real Move) บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัทเดอะไวท์สเปซ จำกัด (Penguin Sim) และบริษัท ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น (My World)
 

แนะ ‘กสทช.’ หลังควบรวมทรู-ดีแทค ต้องสร้าง MVNO ช่วยคนไทยเข้าถึงเครือข่าย

รศ.ดร.สุชาติ  กล่าวต่อไปว่า การแข่งขันปัจจุบันไม่สามารถมองเฉพาะการแข่งขันภายในประเทศไทยหรือการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่ในยุค Digital Disruption (ดิจิทัล ดิสรัปชัน) หรือยุคเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวดที่เกิดจากการเทคโนโลยี ซึ่งการสื่อสารคมนาคมถือเป็นเทคโนโลยีของชาติที่สำคัญในโลกยุคดิจิทัลปัจจุบันและอนาคต การควบรวมกิจการไม่ได้มีผลเสียเพียงอย่างเดียวเสมอไป

 

โดยทั่วไป การควบรวมกิจการสามารถก่อให้เกิดข้อดี อาทิ การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) นวัตกรรม (Innovation) และประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการดำเนินการที่สูงขึ้น การที่ประเทศไทยมีบริษัทโทรคมนาคมที่เข็มแข็งมากยิ่งขึ้น ย่อมมีผลเชิงบวกต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก ส่วนความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ อาทิ การมีอํานาจเหนือตลาด (Abuse of dominance) นั้น เป็นสิ่งที่หน่วยภาครัฐกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภค อาทิ กสทช. ควรกำกับดูแลและควบคุมอย่างใกล้ชิด โทรคมนาคมทั่วโลกเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้เล่นน้อยราย ถูกควบคุมราคา แต่มีความเสี่ยงสูง และต้องลงทุนสูง กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทั้งการวางเครือข่ายและการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีฐานะเงินทุนแข็งแกร่งจึงมีความได้เปรียบ ดังนั้น หลังการรวมกิจการทรู-ดีแทค จะได้ว่าผู้เล่นเบอร์1 และเบอร์2 ในตลาดยังมีขนาดใกล้เคียงกัน ไม่ได้แตกต่างกันมากจนไม่สามารถแข่งขันกันได้

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีข้อจำกัดจากกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของทางการ อาทิ การกำหนดราคาเริ่มต้นของใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมส่วนแบ่งรายได้รายปี ตลอดจนการกำหนดให้มีการลงทุนวางระบบ/ติดตั้ง/ขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนด ดังนั้นการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่จึงนับว่ามีอุปสรรคอยู่มาก เห็นได้จากการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมา ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันให้บริการเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในส่วนของกลุ่ม MVNOs ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาเช่าเครือข่ายรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นบ้าง อาทิ ปี 2559 มีรายใหม่เปิดให้บริการ 2 ราย ได้แก่  The White space (แบรนด์ Penguin) และ Data CDMA Communication (แบรนด์ My World)
 

ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่า ในส่วนบทบาทของ กสทช. นั้น ควรพิจารณาข้อดีและข้อเสียอย่างรอบด้านทั้งมุมมองภาพมหภาคของประเทศในระดับโลกควบคู่กับมุมมองเกี่ยวกับการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมและมุมมองเกี่ยวกับผู้บริโภค การรวมกิจการส่วนหนึ่งย่อมก่อให้เกิดผลเชิงบวกทำให้ผู้บริโภคได้รับความครอบคลุมจากการรวมคลื่น ทำให้เครือข่ายมีความพร้อมรองรับอุตสาหกรรม 4.0 อุตสาหกรรมไฮเทค จำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่และการใช้โมบายอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พัฒนารวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล ผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นเป็นแพลตฟอร์มทางการขายและการตลาด (E-Commerce) รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินกับการใช้บริการออนไลน์

 

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัทอิริคสันที่ระบุว่า ประเทศไทยใช้งานแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนสูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย แอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยม อาทิ บริการด้านการเงิน ซื้อสินค้าและบริการ บันเทิง โซเชียลมีเดีย การเดินทาง และสุขภาพ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขณะที่ Internet of Things (IoT) จะถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยบริษัทไอดีซี (ประเทศไทย) คาดว่าปี 2558-2564 การใช้งานเทคโนโลยี IoT ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 13.2% ต่อปี ขณะที่ปี 2564 ประชากรไทยจะใช้งานอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี IoT เฉลี่ย 2.8 เครื่องต่อคน ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการเครือข่ายที่ครอบคลุม ของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่

 

โดยหวังว่า กสทช. จะเข้าใจว่า หาก กสทช. กำหนดเงื่อนไขการรวมกิจการกีดกันอาจทำให้เสียโอกาสในการมีเครือข่ายคมนาคมที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านคมนาคมของไทยในระดับโลก ดังนั้น กสทช. อาจจะพิจารณาเรื่องการสร้าง MVNO และสนับสนุนอย่างจริงจัง ก็จะคลายกังวลของทุกภาคส่วนและทำให้ประเทศไทยมีผู้ประกอบการหลายรายมากขึ้นในอนาคต