สศช. เปิดข้อมูลแรงงาน หลังผ่านโควิด หลายอุตสาหกรรมยังวิกฤต

28 พ.ย. 2565 | 02:49 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2565 | 09:56 น.

สศช. เปิดข้อมูลสถานการณ์ด้านแรงงานของไทย หลังจากผ่านพ้นช่วงโควิดระบาด พบหลายอุตสาหกรรมยังวิกฤต เกิดการขาดแคลนแรงงานต่างชาติในทุกสาขาการผลิตสำคัญ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์การจ้างงาน ว่า ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศได้คลี่คลายลง ประกอบกับการดำเนินมาตรการส่งเสริมการจ้างงานของภาครัฐ ส่งผลให้สถานการณ์การทำงานของกำลังแรงงานปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น

 

โดยข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2565 พบว่า มีผู้อยู่ในกำลังแรงงานปัจจุบันจำนวน 40.08 ล้านคน ประกอบด้วย

  • ผู้มีงานทำ 39.56 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีงานทำสัญชาติไทย 37.09 ล้านคน และผู้มีงานทำต่างชาติ 2.47 ล้านคน
  • ผู้ว่างงาน 0.49 ล้านคน ฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2562 ที่มีจำนวน 39.03 ล้านคน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณากำลังแรงงานปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2565 เปรียบเทียบกับ ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2562 พบว่า ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 1.03 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.7%

 

โดยสาขาการผลิตสำคัญที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการขายส่ง การขายปลีกฯ และอุตสาหกรรม ส่วนสาขาการผลิตสำคัญที่ผู้มีงานทำลดลง ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง สาขาการก่อสร้าง และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้มีงานทำสัญชาติไทยเพิ่มขึ้น 1.78 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาการผลิตสำคัญ ยกเว้นสาขาเกษตรกรรมการป่าไม้ และการประมง และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารที่ลดลง

ขณะที่กลุ่มผู้มีงานทำต่างชาติลดลง 7.4 แสนคน ลดลง 23.2% เนื่องจากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้มีงานทำต่างชาติเดินทางกลับประเทศ โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชา ลาว เมียนมา ทำให้เกิดการขาดแคลนผู้มีงานทำต่างชาติในทุกสาขาการผลิตสำคัญ ประกอบด้วย

  • สาขาอุตสาหกรรม ลดลง 2.4 แสนคน ลดลง 22.3%
  • สาขาการก่อสร้าง ลดลง 1.7 แสนคน ลดลง 27.7%
  • สาขาการขายส่ง การขายปลีกฯ ลดลง 1.2 แสนคน ลดลง 24.2%
  • สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ลดลง 8 หมื่นคน ลดลง 20.4%

 

อย่างไรก็ตาม ผู้มีงานทำต่างชาติเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากข้อมูลในไตรมาสแรกของปี 2565 จำนวนผู้มีงานทำต่างชาติมีจำนวน 2.34 ล้านคน ไตรมาสที่สองมีจำนวน 2.26 ล้านคน และในไตรมาสที่สามมีจำนวน 2.47 ล้านคน

 

นอกจากนี้ เมื่อจำแนกผู้มีงานทำต่างชาติตามฝีมือแรงงาน ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2565 ประกอบด้วย

  1. แรงงานประเภททั่วไป 2.22 ล้านคน (สัดส่วน 90.11%) โดยแรงงานประเภทนี้ประกอบด้วย 4 สัญชาติสำคัญได้แก่ เมียนมา 1.60 ล้านคน (สัดส่วน 71.94%) กัมพูชา 4.3 แสนคน (สัดส่วน 19.34%) ลาว 1.9 แสนคน (สัดส่วน 8.72%) และเวียดนาม 150 คน (สัดส่วน 0.01%)
  2. แรงงานฝีมือและอื่น ๆ จำนวน 2.4 แสนคน (สัดส่วน 9.89%)