นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตอนหนึ่งในช่วงการแถลงภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการเพิ่มเงินเดือนเด็กจบปริญญาตรี ของพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงขณะนี้ จะสร้างภาระต่องบประมาณ และกระทบโครงสร้างเงินเดือนราชการอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ สศช. มองว่า ในส่วนแรกคือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หากปรับเพิ่มขึ้นสูงเกินไปเหมือนที่พรรคการเมืองหาเสียง จะส่งผลกระทบและเกิดเป็นภาระต่อผู้ประกอบธุรกิจแน่นอน และอาจทำให้ภาคการผลิต ปรับเปลี่ยนการจ้างแรงงานคน ไปลงทุนหุ่นยนต์แทน หากสถานการณ์เป็นไปในลักษณะนี้ สิ่งที่ตามมาคือ ภาคธุรกิจหลายแห่งจะทยอยปลดแรงงานต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนของเด็กจบปริญญาตรีใหม่ สศช.มองนโยบายนี้ว่า จะส่งผลกระทบกับภาคเอกชน และภาครัฐอย่างหนักแน่นอน โดยเฉพาะภาครัฐจะมีภาระงบประมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการจ้างงานเด็กจบใหม่ จะกระทบกับฐานเงินเดือนเดิมของข้าราชการตั้งปรับโครงสร้างใหม่ทั้งระบบ
“ย้อนกลับไปดูอตนที่รัฐบาลมีนโยบายจ้างงานเด็กจบใหม่เดือนละ 1.5 หมื่นบาท รัฐบาลก็ต้องปรับฐานเงินเดือนข้าราชการเหมือนกัน เพื่อให้ข้าราชการเดิม มีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการใหม่ ทั้งระดับปฏิบัติการ ชำนาญการ จนกระทบต่อภาระงบประมาณอีก แม้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ผลพวงจากวิกฤตโควิดก็ยังทำให้มีข้อจำกันในเรื่องของการคลัง จึงจำเป็นต้องดูวินัยการเงินการคลังที่ต้องเคร่งครัดในระยะถัดไปด้วย”
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สามารถจะพอทำได้หากมีการทำนโยบายนี้จริง โดยเฉพาะเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คือ เอกชนที่เป็นนายจ้าง ต้องเตรียมความพร้อม และหาทางเพิ่มทักษะให้กับลูกจ้าง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับค่าแรงที่จะปรับเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
เงินเฟ้อฉุดเงินเดือนแรงงานหาย
นายดนุชา ยังระบุถึง สถานการณ์แรงงานไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ว่า แม้สถานการณ์แรงงานไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างที่แท้จริงกลัวหดตัว จากภาวะเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้พบว่า ค่าจ้างแรงงานภาพรวม โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15,213 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.8% โดยค่าจ้างแรงงานภาคเอกชน เฉลี่ยอยู่ที่ 13,751 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มสูงขึ้น 5.3% ถือว่าขยายตัวได้ต่อเนื่อง
แต่กระนั้นผลของเงินเฟ้อทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัวลง โดยค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานภาคเอกชน หดตัว 1.7% และค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมหดตัวถึง 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่า แม้ค่าจ้างจะสูงขึ้นแต่ไม่ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เงินเฟ้อที่สูงจะกระทบ ต่อแรงงานนอกระบบมากกว่าแรงงานในระบบ เนื่องจาก แรงงานในระบบจะได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในเดือนตุลาคม 2565
ขณะที่ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หรือ กลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนสูงถึง 20.0 ล้านคน หรือคิดเป็น 50.5% ของแรงงานทั้งหมด จะเป็นกลุ่มที่ รับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
อีกทั้งเมื่อพิจารณาระดับการศึกษาของแรงงานกลุ่มดังกล่าว พบว่า กว่าครึ่งมีการศึกษา ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า และอีก 32.6% จบระดับมัธยมศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น - ตอนปลาย ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย