ครั้งแรก สภาพัฒน์ แนะไทยควรรู้ 6 เรื่องก่อน "เปิดเสรีกัญชา" 

14 ธ.ค. 2565 | 03:50 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2565 | 10:57 น.

ครั้งแรก สภาพัฒน์ แนะไทยควรรู้ 6 เรื่องก่อน "เปิดเสรีกัญชา" หลังร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา อยู่ในกระบวนการรัฐสภา ยกผลศึกษาและบทเรียนหลายประเทศเป็นตัวอย่าง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เรื่องเสรีกัญชา : มุมมองที่ควรเรียนรู้จากต่างประเทศ ว่า เพื่อให้นโยบายการเปิดเสรีกัญชาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มงวดและรัดกุมเพียงพอ สำหรับการควบคุมการใช้กัญชาที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และเป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่ต้องการให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษา 

 

โดยพิจารณาจากกรณีศึกษาของประเทศแคนาดา รัฐโคโลราโด และรัฐวอชิงตัน ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้

 

1. การควบคุมการผลิต เพาะปลูก และมาตรฐานของโรงเรือนหรือพื้นที่เพาะปลูก โดยจะต้องกำหนด ปริมาณที่สามารถผลิตหรือเพาะปลูกในครัวเรือนให้มีความเหมาะสม รวมทั้งกำหนดรูปแบบของพื้นที่หรือสถานที่ เพาะปลูกขั้นพื้นฐานที่ต้องดำเนินการ เพื่อป้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงกัญชา ซึ่งอาจนำไปสู่การรั่วไหลไปสู่ตลาดมืด

2. การควบคุมการซื้อขายและการครอบครอง โดยควรกำหนดให้มีการลงทะเบียนร้านค้าหรือ ร้านขายยา ผู้จัดจำหน่าย และผู้ใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด และกำหนดเพดานปริมาณกัญชาที่สามารถซื้อ ขายหรือถือครองได้ รวมถึงมีข้อกำหนดด้านการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์กัญชา 

 

อีกทั้งยังอาจพิจารณา กําหนดให้การซื้อจะต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต เพื่อจำกัดการซื้อขายกัญชาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และป้องกันการใช้ที่ไม่เหมาะสม อาทิ ใช้เสพเกินขนาด ใช้เพื่อการนันทนาการ

 

3. การกำหนดรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งควรกำหนดผลิตภัณฑ์ ที่สามารถมีส่วนผสมของกัญชาได้ และต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบของบรรจุภัณฑ์และความเข้มข้นของ กัญชาประกอบด้วย รวมถึงควรกำหนดให้มีการแสดงฉลากและวิธีการใช้ที่ถูกต้องอย่างชัดเจน เพื่อป้องกัน การบริโภคกัญชาโดยไม่เจตนาหรือบริโภคอย่างไม่ถูกวิธีซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์

4. การมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มอื่น ๆ ที่ชัดเจน โดยต้องมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถใช้กัญชาได้ และอาจพิจารณาจัดทำคู่มือการใช้กัญชาทาง การแพทย์ หรือกำหนดอาการ/กลุ่มโรคที่เข้าข่าย หรือคุณสมบัติของผู้ป่วยที่สามารถใช้กัญชาในการบำบัดหรือ รักษาโรคได้ 

 

รวมถึงข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ควรสั่งจ่ายกัญชาให้ เพื่อป้องกันการผลข้างเคียงจากการใช้ กัญชากับผู้ป่วยที่มีประวัติเสี่ยงหรือโรคที่ไม่เหมาะสม รวมถึงเป็นการป้องกันการใช้กัญชาโดยไม่จำเป็น

 

5. การส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาที่ถูกวิธี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควร สร้างและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาที่ถูกต้อง และเผยแพร่ต่อประชาชน รวมทั้งผู้ต้องการใช้กัญชา ในด้านต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ซึ่งควรเร่งดำเนินการตั้งแต่ก่อนอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่าง ถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้อง

 

6. การบังคับใช้กฎหมายและการติดตามตรวจสอบต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานและความถูกต้องของกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต การซื้อขาย การศึกษา และวิจัย ซึ่งการมีกลไกและระบบติดตามตรวจสอบที่ดีถือเป็นปัจจัยสำคัญ จะก่อให้เกิดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบในด้านต่าง ๆ ที่อาจตามมา ทั้งผลทางด้านสุขภาพ การซื้อขายกัญชาในตลาดมืด การก่ออาชญากรรม และความรุนแรง