นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2566 ทางกลุ่มฯตั้งเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ไว้ที่ 1,050,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ส่งออกได้ 1,000,256 คัน
ทั้งนี้แม้จะมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่คาดว่าคงไม่ถึงกับถดถอยหรือติดลบ และเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป)อาจขาดแคลนได้ในบางช่วง จะส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ แต่ยังมีปัจจัยบวกจากทั่วโลกกลับมาเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้ผู้คนมีการเดินทาง และใช้รถยนต์เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการซื้อรถยนต์ใหม่มากขึ้น
“แม้ 2 ตลาดใหญ่ เช่น อเมริกา และยุโรปทิศทางการส่งออกรถยนต์ไทยจะชะลอตัวตามทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่มีตลาดที่กำลังขยายตลาดและช่วยชดเชยได้ เช่นตะวันออกกลาง เอเชีย อาเซียน และแอฟริกา รวมถึงตลาดญี่ปุ่น และออสเตรเลียที่เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว”
ขณะที่ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า เบื้องต้น สรท.ยังคงคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯจะขยายตัวได้ 1-2% เป็นผลกระทบหลักจากทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
แต่ในสินค้ารถยนต์คาดยังไปได้ จากปัญหาการขาดแคลนชิปซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตคลี่คลายลงแล้ว ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อีก 2 กลุ่มสินค้าส่งออกหลักคาดจะขยายตัวได้ประมาณ 1% ตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศที่เป็นตลาดหลักชะลอตัว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป
รวมถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทที่ผันผวนในทิศทางแข็งค่า กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน
อย่างไรก็ดีทิศทางส่งออกไทย หนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญยังน่าห่วง และต้องติดตามใกล้ชิด ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ได้ประมาณการส่งออกไทยปี 2566 (ณ 17 ก.พ. 66) คาดจะติดลบที่ -1.6% เป็นผลกระทบหลักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก