ออร์เดอร์ส่งออกไทยวูบหนัก "ข้าว ยาง การ์เมนต์"ปาดเหงื่อ

18 ก.พ. 2566 | 00:38 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2566 | 01:05 น.

เศรษฐกิจโลกถดถอย สะเทือนส่งออกไทยชัด ข้าว ยาง การ์เมนต์ อัญมณี ทูน่า ออร์เดอร์ส่งมอบครึ่งปีแรกหดถ้วนหน้า ลดเป้าทั้งปีเหลือ 0% ดีสุดไม่เกิน 5%รอลุ้นครึ่งหลังหวังสถานการณ์พลิกกลับ

สถานการณ์ส่งออก ของไทยยังน่าห่วง และต้องจับตาใกล้ชิด หลังช่วง 3 เดือนล่าสุด(ต.ค.-ธ.ค. 2565) ตัวเลขยังติดลบต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวถึงถดถอยในบางประเทศ/กลุ่มประเทศ ผลจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง สอดคล้องกับที่ “ฐานเศรษฐกิจ”ได้ตรวจสอบ สถานการณ์คำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์) สินค้าไทย เพื่อส่งมอบช่วงไตรมาสแรกและครึ่งแรกของปีนี้ พบมีคำสั่งซื้อลดลง

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า คำสั่งซื้อข้าว จากต่างประเทศช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2566 ยังค่อนข้างเงียบ จากปกติช่วงนี้จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาค่อนข้างมาก จากลูกค้าต้องการข้าวใหม่ช่วงต้นฤดูกาล ส่วนหนึ่งมองว่า เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และอีกปัจจัยสำคัญจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก และแข็งค่าเร็ว จากที่เคยอ่อนค่าที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนกันยายน 2565 แข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ในเดือนมกราคม 2566 (ล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2566 อ่อนค่าอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์)

นายเจริญ  เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ผลพวงเงินบาทที่แข็งค่าเร็วทำให้ผู้ส่งออกข้าวตั้งราคาไม่ถูก ส่วนหนึ่งไม่กล้าออร์เดอร์ เกรงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในรายที่ยังรับออร์เดอร์ ได้ตั้งราคาขายสูงขึ้นเพื่อป้องกันการขาดทุน เช่น ข้าวขาว 5% จากช่วงเงินบาทที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ขายที่ 430 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน พอเดือนมกราคมแข็งค่าอยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ต้องขายที่ 480 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบกับข้าวชนิดเดียวกันจากอินเดียที่ค่าเงินนิ่งขายอยู่ที่ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถูกกว่าข้าวไทย 90-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถามว่าลูกค้าจะซื้อใคร

 “เป้าส่งออกข้าวไทยปีนี้ตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน จากปีที่แล้วทำได้กว่า 7.7 ล้านตัน ซึ่งคงต้องดูกันยาว ๆ ว่าสถานการณ์จากนี้จะเป็นอย่างไร จากออร์เดอร์เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ยังเงียบ ตัวอย่างบริษัทของผมที่ส่งออกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก ปกติมกราคมของทุกปีจะขายได้กว่า 1.2 หมื่นตัน ปีนี้ขายได้แค่ 7-8 พันตัน ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวแปรคือ ค่าเงินบาท ราคาข้าว และความหลากหลายของชนิดข้าวที่ให้ลูกค้าเลือก ในเรื่องค่าเงินบาทนี้ ขอให้ภาครัฐช่วยกำกับดูแลให้เสถียรด้วยเพราะมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา”

ออร์เดอร์ส่งออกไทยวูบหนัก \"ข้าว ยาง การ์เมนต์\"ปาดเหงื่อ

นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า คำสั่งซื้อยางพารา เดิมคาดจะดีขึ้นหลังช่วงตรุษจีน ล่าสุดสถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อย แต่ภาพรวมถือว่ายังทรง ๆ จากลูกค้ายางพาราของไทย (มีตลาดหลักที่จีนสัดส่วนประมาณ 30% ที่เหลือเป็นตลาดอื่น ๆ) ยังชะลอคำสั่งซื้อ ต้องรอลุ้นว่าหลังจีนเปิดประเทศเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เศรษฐกิจและภาคการผลิตของจีนจะกลับมาขับเคลื่อนได้ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด

อีกปัจจัยที่ต้องจับตาคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอีกหรือไม่ สูงสุดจะอยู่ที่อัตราเท่าใด ซึ่งหากขึ้นมากอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีขนาดใหญ่สุดของโลกถดถอย และจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจโลก และส่งผลต่อการส่งออกยางพารา และสินค้าอื่น ๆ ของไทยได้

ออร์เดอร์ส่งออกไทยวูบหนัก \"ข้าว ยาง การ์เมนต์\"ปาดเหงื่อ

“เบื้องต้นคาดการณ์ส่งออกยางพาราไทยทั้งแง่ปริมาณและมูลค่าคงไม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะจีนยังซื้อแบบระมัดระวังเท่าที่จำเป็น เราคงต้องหันมาสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ยางในประเทศมากขึ้น เพื่อไม่ให้ยางราคาตกกระทบกับเกษตรกร”

เช่นเดียวกับ นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า คู่ค้าได้ชะลอการสั่งซื้อสินค้าเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์) รวมถึงชะลอการรับมอบสินค้าตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่คู่ค้ายังมีสต๊อกเดิมเหลืออยู่เพื่อรอการจำหน่าย ทำให้เวลานี้เกือบทุกโรงงานไม่มีการเพิ่มกำลังการผลิต ไม่มีโอทีให้กับพนักงาน ครึ่งแรกของปีนี้ คงทำได้แค่ประคองการส่งออกไม่ให้ติดลบ และรอลุ้นในครึ่งปีหลังสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าจะปรับตัวดีขึ้น สต๊อกสินค้าลดลง และมีการนำเพิ่มขึ้น คาดทั้งปีนี้ดีสุดการส่งออกเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวได้ไม่เกิน 5%

ออร์เดอร์ส่งออกไทยวูบหนัก \"ข้าว ยาง การ์เมนต์\"ปาดเหงื่อ

ด้าน นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าประเทศไทย กล่าวว่า คำสั่งซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจากต่างประเทศเพื่อส่งมอบครึ่งแรกของปีนี้ยังทรงตัวถึงลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่คาดหวังครึ่งหลังของปีนี้สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น และทั้งปีนี้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) จะขยายตัวได้ 7-8%

ขณะที่ นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า ออร์เดอร์ทูน่ากระป๋อง อาหารจำเป็นต่อการครองชีพเวลานี้ยังไปได้แบบไม่หวือหวา คาดปีนี้จะยังขยายตัวได้ 5-10% แต่ที่ต้องจับตาคืออาหารสัตว์เลี้ยง ที่การส่งออกขยายตัวตัวเลข 2 หลักต่อเดือนต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด จากคนอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้านมากขึ้น และมีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัขมากขึ้น แต่ปีนี้คาดการส่งออกจะเสมอตัว หรือเป็นบวกเล็กน้อย จากคนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน และประหยัดมากขึ้น

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3863 วันที่ 19 -22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566