ผู้ที่กำลังวางแผนจะซื้อขายที่ดินหรือกำลังจะโอนที่ดินให้คนในครอบครัว แต่ยังไม่ทราบว่า มีขั้นตอนและต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมข้อมูลมาเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อและผู้ขายในการใช้พิจารณาประกอบซึ่งจะทำให้ไม่เสียเวลาและสามารถยื่นเรื่องโอนที่ดินให้จบได้อย่างสะดวกและเกิดความรวดเร็ว
ขั้นตอนการโอนที่ดิน
ระยะเวลาที่ใช้ในการโอนที่ดินขึ้นอยู่กับคิวหรือจำนวนคนที่ใช้บริการที่สำนักงานที่ดิน แนะนำให้ไปสำนักงานที่ดินแต่เช้าเพื่อจองคิวและลดเวลาที่ต้องรอต่อคิวเป็นเวลานาน
1. กรอกคำขอ พร้อมแนบเอกสารที่ใช้ในการโอนที่ดินตามที่ระบุในข้างต้น
2. นำคำขอและเอกสารดังกล่าวไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เมื่อผ่านการตรวจสอบเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่ฯ จะให้บัตรคิวเพื่อไปรอเรียกที่ฝ่ายชำนาญงาน
3. เมื่อถึงคิว ผู้โอนและผู้รับโอนที่ดินจะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่ชำนาญงาน
4.เจ้าหน้าที่ชำนาญงานจะประเมินราคาที่ดินและนำไปใช้ในการคำนวณค่าโอนที่ดิน ค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนที่ดิน เมื่อทราบยอดราคาค่าโอนที่ดินแล้ว จะได้รับใบคำนวณค่าใช้จ่ายจากเจ้าหน้าที่
5.ให้นำใบคำนวณราคาค่าโอนที่ดินไปชำระเงินที่ฝ่ายการเงิน จากนั้นจะได้รับใบเสร็จสีฟ้าและสีเหลือง
6.ให้มอบใบเสร็จสีเหลืองแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายชำนาญงาน และรับสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าจากผู้ขาย (ตัวจริงผู้ขายเก็บรักษา)
7.เจ้าหน้าที่ชำนาญงานจะพิมพ์สลักหลังโฉนดและมอบให้ตรวจสอบ เมื่อโฉนดถูกต้องเรียบร้อยแล้วจะได้รับโฉนดพร้อมสัญญาซื้อขาย (ทด.13) ถือว่า สิ้นสุดขั้นตอนการโอนที่ดิน และกรรมสิทธิ์ของที่ดินก็ถือเป็นของผู้ซื้อหรือผู้รับโอนโดยสมบูรณ์แล้ว
ทั้งนี้ หากไม่สะดวกไปดำเนินการโอนที่ดินด้วยตนเองสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทนได้
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับการโอนที่ดิน
กรณีบุคคลธรรมดา
1.บัตรประชาชน พร้อมสำเนาที่ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
2.หนังสือเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล พร้อมสำเนาลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง (ถ้ามี)
3.ทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนาลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
4.หนังสือมอบอำนาจ (ทด.21) ในกรณีที่มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
5.สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
6. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
กรณีนิติบุคคล
1.หนังสือรับรองนิติบุคคล ที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน
2.บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน พร้อมรายละเอียดในบัญชีรายชื่อของนิติบุคคลที่สามารถซื้อที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หากผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าว ต้องมีหุ้นไม่ถึงร้อยละ 40 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
3.รายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งระบุวัตถุประสงค์ในการซื้อและแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการซื้อ
4.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
5. หนังสือแสดงตัวอย่างลายมือชื่อกรรมการ
6. หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
7. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
8. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
ค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน
ค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินนั้นอาจให้ผู้ซื้อและผู้ขายออกค่าใช้จ่ายกันคนละครึ่ง หรือให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้ซื้อและผู้ขาย