‘นอมินี’เปิดช่องต่างชาติ ฉกรายได้ท่องเที่ยวไทย

08 มิ.ย. 2559 | 06:00 น.
ธุรกิจตัวแทนอำพราง หรือ นอมินี (Nominee) เป็นรูปแบบธุรกิจและธุรกรรมที่เกิดขึ้นในไทยมานาน โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยว ที่ขณะนี้ภาครัฐได้ตื่นตัวและพยายามหามาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

[caption id="attachment_60162" align="aligncenter" width="700"] ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่อยู่ในระบบขณะนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่อยู่ในระบบขณะนี้[/caption]

++ ก.พาณิชย์ไล่บี้งบ1.2 หมื่นบริษัท

ช่องทางหลักที่ทำให้เม็ดเงินไหลออก ก็คือ ธุรกิจตัวแทนอำพราง หรือนอมินี ที่อยู่ในรูปแบบของการจดทะเบียนการค้าโดยใช้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จริงๆ แล้วเจ้าของธุรกิจคือต่างชาติ และยังมีเรื่องของการจ้างงาน ที่ไม่ใช่คนไทย รวมไปถึงวัตถุดิบ ซัพพลายทั้งหลายที่นำเข้ามา แทนที่จะใช้สินค้าไทยๆ หรือสินค้าโอท็อปในการบริการลูกค้าในโรงแรม และยังมีช่องทางอื่นๆ เช่น การจองโรงแรม การจองสายการบินผ่านเว็บไซต์ชื่อดังในต่างประเทศ แทนที่จะมีการจองผ่านเว็บไซต์ของคนไทย หรือหน่วยงานไทย

ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการประกอบ ธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการท่องเที่ยว และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งบูรณาการข้อมูลเป้าหมายเชิงลึก ก่อนลงตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ และมีข้อมูลว่า มีคนไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในลักษณะนอมินีจำนวนมาก

ฐานข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ล่าสุด พบว่าผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่อยู่ในระบบขณะนี้มีอยู่ 12,914 ราย แบ่งเป็นประเภทท่องเที่ยวทั่วไป 3,010 ราย ท่องเที่ยวในประเทศ 1,567 ราย ท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ 5,067 ราย และธุรกิจนำเที่ยวจากต่างประเทศ 3,270 ราย ในจำนวนผู้ประกอบการเหล่านี้ จดทะเบียนและยื่นงบดุลการค้าถูกต้องหรือไม่ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ทั้งเอกสาร และข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง

++ เปิด 3 ขั้นตอนตรวจสอบ

ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พูดถึงขั้นตอนการตรวจสอบว่า มีด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1. สัดส่วนผู้ถือหุ้น หากต่างชาติถือหุ้นเกินกว่า 49% ก็ถือเป็นนิติบุคคลต่างด้าว 2. คณะกรรมการบริหาร ต้องดูว่าใครคือผู้ควบคุมดูแลรายใหญ่ และ 3. เงินปันผล

หลักเกณฑ์การตรวจสอบเหล่านี้ ประเทศอื่นๆ ใช้ตรวจสอบเป็นหลัก คือ ข้อ 1 และ ข้อ 2 แต่สำหรับประเทศไทย ใช้ข้อ 1 เพียงข้อเดียว ทำให้การตรวจสอบมีช่องโหว่ หากมีการตรวจสอบละเอียด บริษัทที่ขาดการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 5-10 ปี ก็ควรยกเลิกไปเสีย

การแก้ไขปัญหานอมินี "ร.อ.จิตร์" บอกว่า ปัญหาใหญ่คือเรื่องของกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ต้องดูว่าบริษัทเหล่านั้นยื่นงบดุลบริษัททุกปีหรือไม่ เพราะขณะนี้บริษัทที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีอยู่กว่า 6 แสนบริษัท แต่ยื่นงบเพียงแค่ 4 แสนบริษัท สิ่งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องเร่งทำ คือ วางมาตรการที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร กับบริษัทที่ไม่ยื่นงบดุลให้ถูกต้อง

ส่วนอีกเรื่องที่ต้องดำเนินการ แต่เป็นเรื่องยาก คือ การสร้างจิตสำนึก ให้คนไทยรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินไทย แต่เมื่อถูกหยิบยื่น หรือจ้างวานให้มาเป็นนอมินี เม็ดเงินที่ถูกว่าจ้าง ก็เป็นเรื่องล่อใจ ทำให้คนเกิดความต้องการ

++ ผนึกสรรพากรไล่เช็กบิลภาษี

อย่างไรก็ตาม อนาคตรูปแบบธุรกิจ และการดำเนินงานของภาครัฐเอง จะเป็นรูปแบบของอี-คอมเมิร์ซทั้งหมด เวลารัฐต้องการประมูลอะไร คนที่เข้ามารับเหมาการประมูลต้องเป็นนิติบุคคล มีข้อมูลตรวจสอบได้จากระบบออนไลน์ คนจะเลี่ยงภาษีไม่ได้ ถือเป็นการสกัดกั้นนอมินี หรือบริษัทที่จดทะเบียนไม่ถูกต้องได้ระดับหนึ่ง

การโอนข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ระบบออนไลน์ ตรวจเช็กข้อมูลได้ทันที เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่ที่ยังดำเนินการอะไรไม่ได้ เป็นเพราะมีผู้เสียประโยชน์ จึงดึงเรื่องทุกอย่างให้ล่าช้า
ขณะเดียวกันทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ได้นิ่งนอนใจ "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศเอาจริงการแก้ปัญหา ด้วยการร่วมมือกับกรมสรรพากร ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดเก็บภาษี

ทั้งล่าสุด "พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์" ปลัดกระทรวง ในฐานะคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ได้ประชุมคณะกรรมการฯ สรุปมาตรการแก้ไข ทั้งเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ และปัญหานอมินี โดยกรมการท่องเที่ยวและกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ได้ออกตรวจปฏิบัติตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในรอบ 6 เดือน

++ระบบออนไลน์เปิดช่องรั่วไหล

สิ่งที่พบคือ ผู้ประกอบการอาชีพมัคคุเทศก์ที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเป็นไกด์เถื่อน 88 ราย เป็นคนไทย 42 ราย เป็นต่างชาติ 46 ราย ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่กระทำผิดกฎหมายอีก 39 ราย และได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว 23 ราย สั่งเพิกถอนใบอนุญาต 6 ราย

ส่วนเรื่องของระบบออนไลน์ ที่น่าจะส่งผลบวกในอนาคต สำหรับการทำงานของภาครัฐ ขณะนี้กำลังเป็นปัญหาในแง่ของช่องทางรายได้จากการท่องเที่ยวที่รั่วไหล

ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ชี้ไปถึงธุรกิจทางการเงินที่เรียกว่า ฟินเทค (Fintech) หรือ ไฟแนนเชียล เทคโนโลยี (Financial Technology) ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเงินได้แบบง่ายๆ โดยไม่ผ่านระบบธนาคาร นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้เยอะมาก หรือที่เรียกอีกแบบหนึ่งว่า "โพยก๊วน" เป็นการทำธุรกรรมนอกระบบอีกประเภทหนึ่งที่นิยมใช้ในการโอนเงินเข้าออกนอกประเทศ โดยไม่ผ่านสถาบันการเงิน และการใช้โพยก๊วนเป็นธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ทิ้งร่องรอยแห่งพยานหลักฐานให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ หรือเรียกว่า Paperless Transaction

"ตรงนี้ไม่ได้ผิดกฎ แต่เราต้องเข้าไปดูแล" รัฐมนตรีฯ กอบกาญจน์ เน้นย้ำทุกครั้งว่าเรื่องของนอมินี เป็นเรื่องที่ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามแก้ปัญหาอยู่ ด้วยความร่วมมือของหลายๆ หน่วยงาน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ ตำรวจท่องเที่ยว กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และอื่นๆ รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพียงแต่บางเรื่องไม่สามารถเปิดเผยได้

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐนี้จะขจัดปัญหานอมินีในวงการท่องเที่ยวไทยได้มากน้อยแค่ไหน?

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559