รัฐบาลมีแผนขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมสำหรับปีงบประมาณ 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้สำหรับการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติ ในวันพรุ่งนี้ (21 พฤษภาคม 2567)
เบื้องหลังการขอตั้งงบเพิ่มเติมปี 2567 ครั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังได้หารือกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า งบประมาณที่จะนำมาใช้สำหรับโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะมาจาก 3 ส่วน คือ 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท 2.ใช้เงินจากมาตรา 28 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) วงเงิน 172,300 ล้านบาท และ 3.การบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในส่วนของการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาทนั้นมีวงเงินไม่เพียงพอ ไม่สามารถปรับลดงบประมาณรายจ่ายหน่วยงานราชการต่างๆได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมหรืองบกลางปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณก้อนนี้จะตั้งไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เพื่อนำไปแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
หากพิจาณาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เดิมตั้งไว้จำนวน 3,480,000 ล้านบาท โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 693,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบเพิ่มเติม ปี 2567 อีก 122,000 ล้านบาท จะทำให้งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท
นอกจากการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 แล้ว การประชุมครม. วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ยังเตรียมเสนอโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ให้กับที่ประชุมพิจารณา เพื่อรองรับการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รวมทั้งรองรับการจ่ายเงินสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐให้กับประชาชนด้วย
สำหรับความสำคัญของโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน นั้น จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจะใช้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำระบบมารองรับ และอีกส่วนหนึ่งจะรวบรวมการทำธุรกรรมทางการเงินเกี่ยวกับเงินสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะเงินเบี้ยยังชีพทั้งหมด รวมถึงการรวมกระเป๋าเงินดิจิทัลของธนาคารรัฐเข้ามาอยู่รวมกันด้วย