"อุตตม สาวนายน" เสนอลดภาษีหนังสือเพื่อส่งเสริมคนไทยรักการอ่าน

22 ต.ค. 2565 | 07:16 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2565 | 14:18 น.

"อุตตม สาวนายน" หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย หนุนกำหนดนโยบายลดภาษีหนังสือ เพื่อส่งเสริมคนไทยรักการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

วันนี้(22 ต.ค.65) ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เล่าถึงการเดินชมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่าปีนี้น่าจะมีคนเข้าชมงานมากกว่า 1 ล้านคน แสดงว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังนิยมเสพการอ่านในรูปแบบหนังสือเป็นเล่มๆ

 

ดร.อุตตม ระบุว่า การอ่านรูปแบบหนังสือเล่มหรือหน้ากระดาษ มีเสน่ห์กว่าการอ่านแบบดิจิทัล เพราะการค่อยๆอ่านทีละบรรทัด เปิดไปทีละหน้า สมองของเราจะค่อยๆซึมซับและขบคิดไปตามข้อความที่อ่าน ประสบการณ์แบบนี้ไม่มีในสื่อดิจิทัล

 

\"อุตตม สาวนายน\" เสนอลดภาษีหนังสือเพื่อส่งเสริมคนไทยรักการอ่าน

ผลวิจัยทั่วโลกระบุว่า การอ่านรูปแบบหนังสือ ทำให้คนเพลิดเพลินและมีสมาธิจดจำในเชิงประสบการณ์ได้มากกว่าจึงมีความเชื่อว่าหนังสือเล่มจะยังคงอยู่ต่อไป

 

ดร.อุตตม ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่มีคนอ่านหนังสือมากจะมีผลโดยตรงต่อขีดความสามารถของประเทศ อย่าง ประเทศสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือส่งเสริมให้รักการอ่านตั้งแต่เด็กแรกเกิด มีแคมเปญกระตุ้นให้พ่อแม่เล่านิทานจากหนังสือให้ลูกฟัง เพื่อปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน ให้เกิดการเรียนรู้และการอ่านตลอดชีวิต พร้อมทั้งมีงบประมาณให้ทำกิจกรรมต่อเนื่อง

 

เป็นที่น่ายินดีที่งานมหกรรมหนังสือของไทยมีคนสนใจมาก แต่เมื่อมองในรายละเอียดแล้ว น่าจะมีการกระจายโอกาสให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงหนังสือมากขึ้นไปอีก จึงคิดว่า อีกด้านหนึ่งควรมีการสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมหนังสือ ตั้งแต่การส่งเสริมให้เกิดงานเขียนของคนไทยที่มีคุณภาพออกมามากๆ

 

การสนับสนุนสำนักพิมพ์ ทั้งหนังสือทางวิชาการ เชิงวรรณกรรม เชิงความคิด เชิงวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นรากเหง้าเป็นฐานความรู้ของไทย ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอด 

\"อุตตม สาวนายน\" เสนอลดภาษีหนังสือเพื่อส่งเสริมคนไทยรักการอ่าน

 

ส่วนเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอดว่า ราคาหนังสือในประเทศไทยแพงเกินไป ส่วนตัวแล้วคิดว่าราคาหนังสือขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งราคาลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกันไป ต้นทุนการตีพิมพ์ที่ขึ้นกับจำนวนและคุณภาพ ซึ่งเป็นมุมการบริหารเชิงธุรกิจ แต่ภาครัฐก็น่าจะกำหนดนโยบายเข้าไปสนับสนุนด้วยมาตรการภาษีให้กับหนังสือบางประเภท ที่เห็นว่ามีประโยชน์เหมาะต่อการส่งเสริมการอ่าน ก็จะช่วยให้ราคาลดลงและคนไทยเข้าถึงได้มากขึ้น

 

การส่งเสริมการอ่านตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นประเทศไทยควรที่จะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

“ผมคิดว่าดูจากปริมาณคนที่เดินในงานมหกรรมหนังสือนับล้านคน แสดงว่าคนไทยก็รักการอ่านไม่แพ้ชาติอื่น เพียงแต่เราต้องสร้างโอกาสให้คนทั่วประเทศเข้าถึงหนังสือให้ได้มากยิ่งขึ้น” ดร.อุตตม ระบุ