แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่เริ่มชะลอตัวลง แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการดูแลค่าครองชีพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเสริมสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 2 – 3%เป็นอัตราที่ชะลอลงจากปี 2565 อย่างชัดเจน
โดยเงินเฟ้อ เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) ปี 2565 อยู่ที่6.1% ซึ่งคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2566 ดังกล่าว เป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ภายใต้สมมติฐาน
อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการลดภาระค่าครองชีพไม่ว่าจะเป็นโครงการพาณิชย์ ลดราคา! ช่วยประชาชน ,พาณิชย์ลดราคา! ออนทัวร์ทั่วไทย (Lot 21) ลดราคาสูงสุด 60% เป้าหมาย 275 ครั้ง ทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2565 ในรูปแบบการจัดคูหา 100 – 200 คูหา,พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน “New Year Grand Sale” ร่วมกับภาคเอกชน ลดราคา ตั้งแต่ 10 – 80% ในเดือนธันวาคม 2565 – มกราคม 2566 ,ธงฟ้าราคาประหยัดลดค่าครองชีพประชาชน ราคาต่ำกว่าท้องตลาด (20 - 40%) เป้าหมาย 1,010 ครั้ง (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 – กันยายน 2566 เป็นต้น
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้มีการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการโดยกำหนดสินค้าที่ต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด 242 รายการ (สินค้า 219 รายการ และบริการ 23 รายการ) ซึ่งรวมถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการครองชีพ 18 กลุ่มที่ยังตรึงราคาไว้ ได้แก่ 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.หมวดอาหารสด 3.อาหารกระป๋อง 4.ข้าวสารถุง 5.ซอสปรุงรส 6.น้ำมันพืช 7.น้ำอัดลม 8.นมและผลิตภัณฑ์จากนม 9.เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.ผลิตภัณฑ์ซักล้าง 11.ปุ๋ย 12.ยาฆ่าแมลง13.อาหารสัตว์ 14.เหล็ก 15.ปูนซีเมนต์ 16.กระดาษ 17.ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และ 18.บริการผ่านห้าง ค้าปลีก-ส่งรายการ
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น เงินบาทที่ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งต้นทุนการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะพลังงาน (น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ) การทยอยปรับขึ้นค่าจ้างทั้งระบบ ที่เกิดจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งฝั่งอุปทาน และอุปสงค์ การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2565 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาท/หน่วย ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นได้ แต่น่าจะส่งผลอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2566 เป็นต้นไป
ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่กระทบต่อเงินเฟ้อในปี 2566 ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ขณะที่การเลือกตั้งในปี 2566 รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต้นปี 2566 และแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยด้านอุปสงค์ที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้แต่จะมาพร้อมกับเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยด้านบวกต่อเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2566 ของ สนค. สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และตัวเลขคาดการณ์ของหน่วยงานเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ สภาพัฒน์ 2.5-3.5% แบงก์ชาติ 3% สศค.2.9% และศูนย์วิจัยกรุงศรี 2.5%