บริโภค-ท่องเที่ยวฟื้น ดัน“ขยะ”พุ่ง กทม.-ชลบุรีนำโด่ง

08 ม.ค. 2566 | 01:39 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2566 | 11:42 น.

การเติบโตทางเศรษฐกิจบวกกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณขยะชนิดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว หากบริหารจัดการไม่ดี ทั้งขยะ ขยะมูลฝอยตามครัวเรือน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะติดเชื้อ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ตามมาได้

บริโภค-ท่องเที่ยวฟื้น ดัน“ขยะ”พุ่ง กทม.-ชลบุรีนำโด่ง

 

“ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ  นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี  อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ถึงการจัดการปัญหามลพิษที่เกิดจากการขยายตัวของปริมาณกากขยะต่าง ๆ รวมถึงเป้าหมายและทิศทางการรับมือแบบบูรณาการ

 

 นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ซึ่งคณะรัฐมนตรีรับทราบแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 เพื่อเป็นทิศทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แผนดังกล่าวมีแนวทางการยกระดับการจัดการปัญหาที่เกิดจากขยะมูลฝอยชุมชน และขยะอุตสาหกรรม ดังนี้

 

1.ขยะมูลฝอยชุมชน จัดระบบการคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางให้สอดคล้องกับรูปแบบหรือเทคโนโลยีการกำจัดขยะมูลฝอย ณ ปลายทาง เพื่อให้ครัวเรือน-อาคาร-สำนักงานทุกแห่ง คัดแยกขยะก่อนทิ้งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้บริโภคอย่างพอเพียงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

2.ขยะอุตสาหกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีการใช้เทคโนโลยีป้องกันการเกิดของเสีย มีการผลิตที่สะอาด ลดการใช้สารอันตรายหรือใช้สารอื่นทดแทน มีการคัดแยกของเสียไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อลดปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายที่ต้องนำไปกำจัดขั้นสุดท้ายให้เหลือน้อยที่สุด มีการพัฒนาระบบให้มีการหมุนเวียนหรือแลกเปลี่ยนของเสียจากอุตสาหกรรม เพื่อการใช้ประโยชน์เศษวัสดุหรือของเสียให้มากที่สุด พิจารณาใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก รวมถึงการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับโรงงานที่ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย และสถานที่กำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม

 

สำหรับในส่วนของการจัดการขยะอุตสาหกรรม อำนาจหน้าที่หลักในการกำกับดูแลของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงงาน และ คพ. ได้มีความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการบูรณาการการแก้ไขปัญหาการจัดการของเสียอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรม ประเมินจุดอ่อนของระบบกำกับการขนส่งกากของเสียอุตสาหกรรมตั้งแต่ผู้ก่อกำเนิดผู้ขนส่ง และผู้รับกำจัด

 

นายปิ่นสักก์  สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

 

กรณีที่มีการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม คพ. ประสานให้มีการดำเนินการทางกฎหมายและเรียกค่าเสียหายกับผู้กระทำความผิด ซึ่งที่ผ่านมามีการเรียกร้องค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามนัยมาตรา 96 และ 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งในการป้องปรามการกระทำความผิด

 

  • พบปริมาณขยะยังสูง

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงปริมาณขยะว่า ข้อมูลล่าสุด จากระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศ ซึ่งดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรุงเทพมหานคร ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นเฉลี่ย 7 หมื่นตันต่อวัน หรือ 25.55 ล้านตันต่อปี (ยังไม่ครบปี) เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีปริมาณ 24.98 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 0.57 ล้านตัน หรือร้อยละ 2

 

ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ การยกเลิกการทำงานจากบ้านพัก (Work From Home: WFH) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวของการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว

 

บริโภค-ท่องเที่ยวฟื้น ดัน“ขยะ”พุ่ง กทม.-ชลบุรีนำโด่ง

 

ด้านของเสียอันตรายจากชุมชน ปี พ.ศ. 2565 คาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณ 6.76 แสนตัน ซึ่งเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 4.39 แสนตัน หรือสัดส่วนร้อยละ 65 ในจำนวนนี้เป็นของเสียอันตรายจากชุมชนประเภทอื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น ประมาณ 2.36 แสนตัน หรือร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.06 โดยมีการคัดแยกและนำไปกำจัดอย่างถูกต้องประมาณร้อยละ 22

 

ส่วนขยะติดเชื้อ ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) เกิดขึ้น 7.57 หมื่นตัน ค่าเฉลี่ย 277.44 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 11.45 สาเหตุเกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในช่วงเดือน ก.พ.- พ.ค. และหลังจากเดือน พ.ค. ค่าเฉลี่ยรายวันมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่คลี่คลายลง ซึ่งค่าเฉลี่ยรายวัน ณ เดือน ก.ย. 2565 อยู่ที่ 211.30 ตันต่อวัน

 

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงก่อนมีสถานการณ์โควิดปริมาณขยะติดเชื้อจะมีประมาณ 5 หมื่นตันต่อปี ทั้งนี้ศักยภาพในการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของประเทศสามารถรองรับได้ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน

 

  • สถิติแจ้งร้องเรียนมลพิษลดลง

สำหรับการแจ้งร้องเรียนปัญหาจากมลพิษ จากข้อมูลล่าสุด คพ.ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ จำนวน 718 เรื่อง ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่มีจำนวน 766 เรื่อง ซึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาได้รับการแจ้งเรื่องร้องเรียนสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 189 เรื่อง รองลงมา คือ สมุทรปราการ 54 เรื่อง สมุทรสาคร 44 เรื่อง โดยปัญหากลิ่นเหม็นยังครองอันดับ 1 มีการร้องเรียนมากที่สุด 527 เรื่อง (ร้อยละ 41) รองลงมา คือ ฝุ่นละอองหรือเขม่าควัน 315 เรื่อง (ร้อยละ 24) และเสียงดังหรือเสียงรบกวน 215 เรื่อง (ร้อยละ 17)

 

แหล่งที่มาของปัญหามลพิษ พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 41 รองลงมา คือ สถานประกอบการ ร้อยละ 33 ซึ่งยังเป็นกลุ่มเดิมๆ โดยปัญหามลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ซึ่งบทลงโทษเป็นไปตามกฎหมายที่ควบคุมกำกับแหล่งกำเนิดนั้นอยู่ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ

 

ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจสั่งปิดโรงงานหรือสถานประกอบการโดยตรง แต่กรมควบคุมมลพิษ จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมายแต่ละฉบับ และหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข จะเร่งติดตามและอาจลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน

 

  • เปิด 5 พื้นที่ขยะมากสุด

นายปิ่นสักก์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันจังหวัดที่มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นมากที่สุด จะเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง ศูนย์รวมเศรษฐกิจและเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมประชากรแฝงเพื่อทำงานเป็นจำนวนมาก 5 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ นครราชสีมา และนนทบุรี ปัจจุบันศักยภาพของพื้นที่ยังสามารถรองรับกำจัดขยะมูลฝอยได้ แต่เนื่องจากปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอาจเต็มและใช้งานไม่ได้ในอนาคต

 

ดังนั้น คพ. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จึงร่วมมือกันในการสนับสนุนการคัดแยกขยะมูลฝอย เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกเก็บขนไปยังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย รวมทั้งสนับสนุนให้เอกชนดำเนินการหรือร่วมดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่มีศักยภาพ และเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดการขยะมูลฝอยโดยตรง เพื่อเตรียมการในอนาคต

 

โดยปีงบประมาณ 2566 คพ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายเพียง 3.49 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ใช้ในการบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายในระดับพื้นที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการจัดการขยะมูลฝอยโดยตรง 

 

  • คพ.ตั้งเป้าลดปริมาณขยะ

สำหรับเป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 เมื่อสิ้นสุดแผนฯ ณ ปี 2570 ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นอาจไม่ลดลง เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อัตราการผลิตขยะต่อคนจะลดลงจากการรณรงค์ การทำงานร่วมกับภาคเอกชน และการกำหนดมาตรการอื่น ๆ

 

โดยจุดเน้นจะอยู่ที่มีการตั้งเป้าหมายการคัดแยกขยะจากบ้านเรือนและสถานที่กำจัดขยะและนำกลับไปใช้ประโยชน์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36 ขยะที่ถูกนำไปกำจัดจะเป็นเตาเผาเพื่อผลิตพลังงาน ร้อยละ 26 กำจัดด้วยระบบหมักปุ๋ย ระบบผสมผสานและการผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF)) ร้อยละ 13 ลดการฝังกลบลงเหลือ ร้อยละ 17 โดยมีขยะกำจัดไม่ถูกต้องเหลือเพียงร้อยละ7 (จากเดิมร้อยละ 25)

 

อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษ ได้มีการวางกรอบการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านต่างๆ จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) และจัดทำแผนปฏิบัติราชการของกรมควบคุมมลพิษ ในระยะ 5 ปี เพื่อวางกรอบการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหามลพิษ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

 

ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลักคือ ด้านการป้องกัน, การเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัด กำจัดและควบคุม รวมถึงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการมลพิษ ในส่วนการติดตามประเมินผล ได้มีการดำเนินงานตามแผน ในระยะ 1 ปี ระยะครึ่งแผน และเมื่อสิ้นสุดแต่ละแผน ผ่านการประเมินสถานการณ์มลพิษในแต่ละปี เพื่อเทียบการบรรลุผลตามตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่จะทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3851 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ. 2566