การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 333 วันแล้ว นับจากวันที่ 24 ก.พ. 65 ที่รัสเซียเริ่มเข้าไปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนด้วยชนวนเหตุจากกรณีพิพาทเรื่องดินแดน จนนำไปสู่การคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาประเทศ ซึ่งผลจากความขัดแย้งดังกล่าวยังคงเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกมาจนถึงขณะนี้ และยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลงพัฒนาการความขัดแย้งที่สำคัญตลอดช่วงระยะเวลา 333 วัน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวเพื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วง333วัน ว่า 3 วันก่อนเกิดการสู้รบในยูเครน รัสเซียประกาศรับรองเอกราชของแคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซีย หลังจากนั้น การสู้รบ
ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 65 เมื่อรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารโจมตียูเครน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาสันติภาพในแคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ และเพื่อปกป้องความมั่นคงจากการขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกและ NATO ทางด้านชาติตะวันตกหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางการทหารกับรัสเซียด้วยการประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันรัสเซียให้ยุติการปฏิบัติการ
โดยในช่วง 3 เดือนแรกของการสู้รบทั้ง 2 ฝ่ายมีความพยายามที่จะเจรจาสันติภาพกันหลายครั้ง โดยมีตุรกีเป็นสื่อกลาง แต่การเจรจาก็หยุดชะงักลงตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 65 ซึ่งเป็นช่วงที่รัสเซีย
การเข้ายึดครองเมืองมาริอูปอลซึ่งเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญในทะเลดำ ทำให้การขนส่งสินค้าของยูเครนออกจากท่าเรือในทะเลดำถูกปิดกั้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฟินแลนด์และสวีเดนประกาศละทิ้งความเป็นกลางทางการทหารด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 65 มีความคืบหน้าด้านบวกที่สำคัญ คือการที่รัสเซียและยูเครนลงนามในข้อตกลง Black Sea Grain Initiative โดยมีตุรกีและองค์การสหประชาชาติเป็นสื่อกลาง เพื่อเปิดทางให้ยูเครนส่งออกธัญพืชและสินค้าเกษตรอื่น ๆ ผ่านทะเลดํา ขณะที่ในอีก
ด้านหนึ่งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยุโรปในด้านพลังงานก็มีความตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากรัสเซียยุติการจ่ายก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการส่งก๊าซไปยังยุโรป โดยให้เหตุผลว่า ผลจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกทำให้รัสเซียยังไม่ได้รับคืนอุปกรณ์สำคัญของท่อส่งก๊าซที่ส่งไปซ่อมบำรุง พร้อมทั้งตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่จัดส่งก๊าซจนกว่าจะมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และหลังจากนั้นไม่นานรัสเซียก็เข้าไปโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริเซียของยูเครน จนสร้างความกังวลถึงการเกิดสงครามนิวเคลียร์
สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งยกระดับความรุนแรงขึ้นอีกขั้นในช่วงเดือน ก.ย. 65 หลังจากรัสเซียสั่งระดมกำลังสำรองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนกว่า 300,000 นาย ไปร่วมการต่อสู้ในยูเครน และเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 65 รัสเซียได้ประกาศผนวก 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ได้แก่ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาปอริเชีย ขณะที่ชาติตะวันตกไม่ยอมรับการผนวกดินแดนดังกล่าว และในวันเดียวกันยูเครนก็ตอบโต้ด้วยการยื่นคำขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขการยุติการสู้รบที่รัสเซียเคยเสนอเมื่อครั้งที่มีการเจรจาสันติภาพ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุระเบิดที่สะพานไครเมียโดยฝ่ายรัสเซียได้กล่าวหาว่า เป็นฝีมือของฝ่ายยูเครน ซึ่งทำให้รัสเซียนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการระงับข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ชั่วคราว แต่ในช่วงเดือน พ.ย. 65 ก็ได้มีการตกลงขยายระยะเวลาบังคับใช้ออกไปจนถึงเดือน มี.ค. 66
ในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. 65 จนถึงปัจจุบัน การสู้รบมีแนวโน้มยืดเยื้อและยกระดับรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ หลังรัสเซียยกระดับปฏิบัติการทางทหารด้วยการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนจนเสียหายกว่า 50% ทำให้ยูเครนยืนยันว่าจะไม่ยอมเจรจาจนกว่ารัสเซียจะถอนกำลังทหาร และยอมรับอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ขณะที่ชาติพันธมิตร NATO ให้คำมั่นว่าจะจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และให้การสนับสนุนทางทหารในการต่อสู้กับรัสเซียจนถึงที่สุด ฝ่ายรัสเซียก็มีการลงนามความร่วมมือทางการทหารครั้งใหญ่กับเบลารุสเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 66 สะท้อนว่าสถานการณ์ความขัดแย้งน่าจะยังไม่สิ้นสุดในเร็ววันนี้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี 2565 เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่มีสัดส่วนพึ่งพาภาคต่างประเทศสูง หรือพึ่งพาการส่งออกมาก อย่างเช่นไทยที่การส่งออกสินค้าหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน โดยหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันในเดือน ต.ค. และ พ.ย. 65 เช่นเดียวกับประเทศ อื่น ๆ ในภูมิภาคที่การส่งออกมีทิศทางชะลอตัวลง
และตราบใดที่วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังยังคงดำเนินต่อไป ก็จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวให้อ่อนแอลงไปอีก และจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในฐานะประเทศที่พึ่งพาภาคต่างประเทศในระดับสูง
“ธนาคารโลก(World Bank)ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัว 2.9% ซึ่งชะลอลงอย่างมากจากที่ขยายตัว 5.9% ในปี 2564 และต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อต้นปีก่อนเกิดวิกฤตในยูเครนที่ 4.1% และนับจากนี้เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ”