“สมัชชา พรหมศิริ” Chief of Staff ฝ่ายการตลาดดิจิตอลและสื่อสารองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” มอบความช่วยเหลือเด็ก จ.ราชบุรี ให้อยู่ในระบบการศึกษา สามารถช่วยเด็กกลับสู่ระบบการเรียนได้รวมกว่า 907 คน ในปี 2566 แสนสิริยังเดินหน้าร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขยายความช่วยเหลือสู่เด็กนอกระบบให้ได้กลับเข้าเรียนอย่างเสมอภาค
เป้าหมายของแสนสิริคือการขยายการทำงานให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกพื้นที่ในจังหวัด พร้อมต่อยอดความช่วยเหลือสู่เด็กนอกระบบ ด้วยการวางหลักสูตร 1 โรงเรียน 3 ระบบ เติมเต็มวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต “โมเดลพื้นที่ชีวิตเด็กนอกระบบราชบุรี”
ส่วนการดำเนินงานปีแรก สรุป 5 กิจกรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในจังหวัดราชบุรี เริ่มจากการวาง Roadmap และการบริหารจัดการ พร้อมกับช่วยเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบให้ได้เรียนต่อ และจัดตั้งโครงการพัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเพื่อเด็กนอกระบบ, โครงการ 3 พลังอาสา จังหวัดราชบุรี นวัตกรรมกลไลอาสาสมัคร และการระดมความร่วมมือพนักงานและลูกบ้านแสนสิริ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่ดีอย่างเสมอภาค ผ่านกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่องทั้งปี
กิจกรรมที่จัดขึ้น อาทิ การรับบริจาคหนังสือจากพนักงานและลูกบ้านแสนสิริ การยกทัพพนักงานแสนสิริและพนักงานสีทีโอเอลงพื้นที่ซ่อมแซมห้องสมุดให้กับโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้ง บริจาคคอมพิวเตอร์สภาพดีจากแสนสิริให้กับโรงเรียน 15 แห่งในอำเภอสวนผึ้ง และจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพให้กับนักเรียนใน 5 โรงเรียน รวม 80 คน
รวมถึงการจัดกิจกรรม Giving Mission ภารกิจบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันเด็กในโรงเรียนในอำเภอสวนผึ้ง และล่าสุด ได้สนับสนุนให้น้องๆ เสริมสร้างประสบการณ์และทักษะอาชีพ ด้วยการเข้าร่วมจัดบูธขายอาหารและเครื่องดื่มในเทศกาลดนตรีแห่งความสุข Season of Love Song ครั้งที่ 12 ที่จัดขึ้นในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
“ดร. ไกรยส ภัทราวาท”ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในปี 2565 ได้คิกออฟโครงการกับกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ที่มีปัจจัยสนับสนุน เช่น อำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง และอำเภอบ้านคา โดยขับเคลื่อนงานผ่านกลไกพื้นที่การศึกษา (Area-based Education) ที่จะส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ในระยะยาว เกิดระบบเชื่อมโยงข้อมูล และส่งต่อระหว่างโรงเรียน สถานศึกษาสายอาชีพ เพื่อสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาในระดับสูง ซึ่งไม่เพียงเด็กรุ่นปัจจุบันเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่จะส่งผลกระทบให้ยั่งยืนต่อเด็กรุ่นสู่รุ่น
พร้อมกันนี้ ยังจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่เด็กเสี่ยงหลุด จากระบบ ครอบคลุมเด็กในช่วงชั้นรอยต่อ (ป.6 และ ม.3) และเด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤตทางการศึกษาให้ยังคงอยู่ในระบบ รวมทั้งจัดตั้งโครงการพัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเพื่อเด็กนอกระบบ และโครงการ 3 พลังอาสา จังหวัดราชบุรี นวัตกรรมกลไลอาสาสมัคร (อสม.,อพม.,อสศ.) ลงพื้นที่ฟื้นฟู ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,856 วันที่ 26 - 28 มกราคม พ.ศ. 2566