นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยประเมินอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2566 ไว้ที่ 1-2% คิดเป็นมูลค่า 10 – 10.1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 หลังจากยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ การเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ตลอดจนค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และข้อกังวลเรื่อง Food Security ของประเทศต่างๆ ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทย
นายภูสิต กล่าวอีกว่า กรมจะเร่งรัดจัดกิจกรรมใน 4 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV และจีน โดยจะจัดกิจกรรมในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดงานแสดงสินค้าไทย คณะผู้แทนการค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ผลักดันค้าขายออนไลน์ โดยกำหนดเป้าหมาย ได้แก่
นอกจากนี้ จะมีการเจาะตลาดศักยภาพใหม่ในเอเชียกลาง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน โดยนำร่องจัดกิจกรรมกับคาซัคสถานซึ่งมีศักยภาพด้านการค้ากับไทยมากที่สุดในภูมิภาคดังกล่าว และเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าในเอเชียกลาง ซึ่งจะจัดการสัมมนาเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อต่อยอดสู่การจัดกิจกรรมเจรจาการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต่อไป
อย่างไรก็ดี ตลาดใหม่ที่น่าสนใจอีกแห่ง คือ ตลาดนอร์ดิก ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกำลังซื้อสูง และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไทยไปสู่สหภาพยุโรป โดยจัดคณะผู้แทนการค้า การจัดกิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อาหาร เกษตรอินทรีย์ และ สินค้า BCG เป็นต้น และจัดกิจกรรม In-Store Promotion ร่วมกับห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ
สำหรับการขยายการค้าบนแพลทฟอร์มออนไลน์ กรมตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้าน TOPTHAI (ร้านค้าออนไลน์ของกรมบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ชั้นนำ) ไปยัง Amazon Global Selling Thailand (สหรัฐฯ), eBay (สหรัฐฯ/ออสเตรเลีย), Lazada (มาเลเซีย/สิงคโปร์/ฟิลิปปินส์/เวียดนาม), AbouThai (ฮ่องกง/จีน),
และ Pinkoi (ไต้หวัน/เกาหลี/ญี่ปุ่น) ซึ่งปัจจุบัน มีร้านบน 7 แพลตฟอร์ม ครอบคลุม 9 ประเทศ คือ Amazon (สหรัฐฯ), Tmall ในเครือ Alibaba Group (จีน), Bigbasket (อินเดีย), Klangthai (กัมพูชา), Blibli (อินโดนีเซีย), PChome (ไต้หวัน) และ Shopee (มาเลเซีย/สิงคโปร์/ฟิลิปปินส์) ปัจจุบัน มีแบรนด์สินค้าที่เข้าร่วมในร้านกว่า 200 แบรนด์
ส่วนการมุ่งเน้นรักษาตลาดเดิม (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น) จะส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกด้วยนวัตกรรม และการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างแบรนด์ ส่งเสริมการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการค้าระหว่างประเทศรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ และส่งเสริมธุรกิจบริการ โดยใช้ Soft Power เช่น ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพและความงาม โลจิสติกส์ และร้านอาหาร Thai Select
สินค้าเป้าหมายที่จะผลักดัน ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแห่งอนาคต (future food) ซึ่งสามารถตอบโจทย์ ทั้งปัญหาความมั่นคงทางอาหาร กระแสรักสุขภาพ และเทรนด์รักสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย อาหารไทยอาหารโลก ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้า BCG (กลุ่มไลฟ์สไตล์และแฟชั่น บรรจุภัณฑ์ สุขภาพและความงาม) เพื่อรับมือกับเงื่อนไขการค้าโลกที่มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว สินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นายภูสิต กล่าวอีกว่า ปี 2566 กรมจะจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทย หลังโควิดคลี่คลายอย่างเต็มรูปแบบ 5 งาน คือ STYLE Bangkok ( 22 - 26 มีนาคม 2566) ,TAPA ( 5 - 8 เมษายน 2566) ,THAIFEX-ANUGA ASIA (23 -27 พฤษภาคม 2566) ,TILOG–LogistiX (17 - 19 สิงหาคม 2566) และ Bangkok Gems & Jewelry Fair (6 - 10 กันยายน 2566) โดยตั้งเป้าประมาณการมูลค่าเจรจาการค้ามากกว่า 16,700 ล้านบาท
"ปี 2567 กรมร่วมกับโคโลญจ์เมสเซ่ ได้ริเริ่มที่จะจัดงานแสดงสินค้าสำหรับกลุ่ม HORECA โดยเฉพาะเป็นครั้งแรกในภูมิภาค โดยจะใช้ชื่อว่า THAIFEX HOREC Asia 2024"