“อุตตม”แนะไม่ควรตื่นตระหนกเกินเหตุกรณี 2 ธนาคารใหญ่สหรัฐประสบปัญหา

13 มี.ค. 2566 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2566 | 08:35 น.

“อุตตม”แนะไม่ควรตระหนกเกินเหตุ จากกรณี 2 ธนาคารใหญ่ของสหรัฐประสบปัญหารุนแรงจนถูกเข้าควบคุมกิจการ แต่ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ชี้ภาคธนาคาร-ตลาดทุนของไทยเข้มแข็งในระดับที่ดี แต่ก็ไม่ควรประมาทเรื่องฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

วันนี้ (13 มี.ค. 66) นายอุตตม สาวนายน ทีมเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า  

เหตุการณ์ที่ Silicon Valley Bank ธนาคารใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 20 ของสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหารุนแรงจนทางการสหรัฐต้องเข้าควบคุมกิจการ เพื่อดูแลประชาชนและลูกค้าที่อาจถูกผลกระทบนั้น ทำให้เกิดความกังวลได้ว่า อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ลุกลามเป็นลูกโซ่กระทบกับธนาคารอื่นๆ ในสหรัฐ และตลาดทุน/การเงินโลก ทำนองเดียวกับ Hamburger Crisis ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 หรือไม่ 

และล่าสุดหน่วยงานในสหรัฐก็ออกแถลงการณ์สั่งปิดกิจการธนาคาร Signature Bank ในรัฐนิวยอร์ก เพิ่มอีกหนึ่งธนาคาร ด้วยเหตุผลว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงในระบบธนาคารของประเทศ ซึ่งเราย่อมไม่อยากให้เกิดความตระหนกจนเกินกว่าเหตุครับ
วิกฤตสถาบันการเงินมักมีจุดเริ่มต้นจากความไม่เชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน และแห่ถอนเงินพร้อมๆ กัน ซึ่งต่อให้ธนาคารนั้นจะใหญ่ขนาดไหนก็เสี่ยงกับการขาดสภาพคล่องเฉียบพลันได้ การที่หน่วยงานสหรัฐตัดสินใจดำเนินการรวดเร็วถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและเหมาะสม

จากเหตุการณ์ที่เกิดในอดีต ความตื่นกลัว ข่าวลือ ที่ขยายวงรวดเร็วและนำไปสู่ปัญหารุนแรง หากไม่เกี่ยวกับทุจริต หรือ เหตุเฉพาะสถาบันนั้นๆ ก็มักมีที่มาจากสถานการณ์ หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้คนกังวลว่าสถาบันบางประเภท บางกลุ่มจะประสบปัญหารุนแรง

                             “อุตตม”แนะไม่ควรตื่นตระหนกเกินเหตุกรณี 2 ธนาคารใหญ่สหรัฐประสบปัญหา

สำหรับประเทศไทย เราควรติดตามสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับในหลายประเทศ สามเสาหลักของระบบเศรษฐกิจไทย คือ ภาคเศรษฐกิจจริงของการผลิต/บริการ (real economy) ภาคการธนาคาร และ ภาคตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งความตื่นตระหนกจนลุกลามสามารถเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ในทั้งสามเสาหลัก 

โดยในภาพรวมเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ขึ้นกับความเข้มแข็งของเสาหลักที่ยึดโยงระหว่างกัน ซึ่งข้อมูลจากทางการบ่งชี้ว่า ภาคธนาคารและตลาดทุนของไทยมีความเข้มแข็งในระดับที่ดี

สำหรับภาคเศรษฐกิจจริง ปีนี้เป็นช่วงเวลาท้าทายสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งภายนอกและภายในประเทศ เหตุการณ์ในสหรัฐย่อมเพิ่มความซับซ้อนในเวทีโลก ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องไม่ประมาทในการบริหารดูแลทั้งสามเสาหลักของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดในลักษณะที่เชื่อมโยงกัน

ประเทศไทยเรามีองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและดูแลเศรษฐกิจครบถ้วน ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งสภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมธนาคารไทย สภาตลาดทุน สมาคม บลจ. 

ประสบการณ์กับวิกฤตที่ผ่านมา ชี้ให้เราเห็นความจำเป็นในการทำงานร่วมกันเชิงรุกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารไม่ว่าเป็นจริง หรือ ที่ลือ สามารถถูกถ่ายทอดได้ทันที 24 ชม. เพื่อเตรียมมาตรการล่วงหน้า และพร้อมปรับเปลี่ยนให้ทันการ ตลอดจนสื่อสารให้ข้อมูลกับสังคมอย่างเหมาะสม

จากข่าวสารข้อมูลยัง ไม่ปรากฏพบความผิดปกติร้ายแรงที่กระทบวงกว้างในสหรัฐ ซึ่งเราหวังว่า ทางการสหรัฐจะควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะการฟื้นตัวของทั้งเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยยังมีความเปราะบาง ซึ่งย่อมอ่อนไหวต่อสถานการณ์ในสหรัฐ และแรงกระเพื่อมที่กำลังเกิด ซึ่งก็เป็นเวลาที่การเมืองในประเทศกำลังเข้มข้นอีกด้วย