พรุ่งนี้ “ศาลปกครองสูงสุด” พิพากษา ปม รฟม.ล้มประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

29 มี.ค. 2566 | 09:01 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2566 | 09:02 น.

จับตา 30 มี.ค.นี้ “ศาลปกครองสูงสุด” ชี้ขาด หลังบีทีเอสยื่นฟ้อง รฟม.ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หวังเอื้อเอกชนบางราย กีดกันการแข่งขัน

รายงานข่าวจากศาลปกครอง เปิดเผยว่า สำนักงานศาลปกครอง แจ้งว่า ในวันที่ 30 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลปกครองสูงสุด นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

จากกรณีมีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค. 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กีดกันทางการค้า ขัดต่อแนวทางปฏิบัติในการคัดเลือกเอกชนในโครงการร่วมทุนอื่นๆ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ของเอกชนบางราย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงนำมาสู่การฟ้องร้องคดีต่อศาล

สำหรับคดีที่ฟ้องร้องอยู่ในศาล จำนวน 3 คดี ประกอบด้วย 

1.คดีที่ศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ไม่ชอบ ซึ่งคดีนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุดแถลงว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ปัจจุบันรอรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
 

2. คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติ  มิชอบกลางที่ กลุ่ม BTSC ฟ้องการแก้ RFP และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต ซึ่งความคืบหน้าของคดีนี้คือ ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า การแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด

นอกจากนี้การยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และคดีนี้อยู่ระหว่าง BTSC ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา 

3. อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง กรณีที่ BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC ซึ่งความคืบหน้าของคดี อยู่ระหว่างการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 1

ทั้งนี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับเนื่องจากเห็นว่า ประกาศเชิญชวนฯ และ RFP เป็นไปตามกฎหมายแล้ว RFP เปิดกว้างมากขึ้น ไม่มีลักษณะ    เป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC  นอกจากนั้นยังมีการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 2 แต่ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาของ BTSC