ลุ้นเจรจาต่อ “มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-มาเลเซีย” 4 หมื่นล้าน

19 เม.ย. 2566 | 06:27 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 06:39 น.

“ทางหลวง” ลุ้นครม.ชุดใหม่ไฟเขียวเจรจาร่วมมาเลเซีย สร้างมอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-มาเลเซีย 4 หมื่นล้านบาท เร่งแก้ปัญหาเชื่อมด่านสะเดาแห่งที่ 2 นำร่องตอกเสาเข็มทางคู่ขนาน 5 กม. คาดเสร็จเม.ย.นี้ เตรียมดึงเอกชนร่วมทุน PPP 30 ปี

มอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย เป็นมอเตอร์เวย์สายหนึ่งที่กรมทางหลวงพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ถึงแม้ว่ายังติดปัญหาการเจรจากับประเทศมาเลเซียก็ตาม หากโครงการฯสามารถเกิดขึ้นได้ จะทำให้การเดินทางระหว่างตัวเมืองหาดใหญ่กับด่านชายแดนไทยและมาเลเซียมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 71 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 40,787 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 31,287 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 9,500 ล้านบาท

 

 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งด่านของโครงการฯ เนื่องจากแนวเส้นทางจะต้องเชื่อมต่อบริเวณด่านศุลกากรด้วย ทำให้กรมฯจะต้องเจรจากับทางด่านมาเลเซียให้แล้วเสร็จ ส่วนการเจรจาโครงการฯจะแล้วเสร็จเมื่อไรขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา เพราะโครงการฯถือเป็นเรื่องระดับประเทศที่จะต้องเจรจาจาร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย 
 

ทั้งนี้โครงการฯได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP Net Cost) อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี แล้วเสร็จ ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 

 

ขณะเดียวกันในระหว่างที่การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ กรมฯอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างทางคู่ขนาน ช่วงแยกทล.หมายเลข4-ด่านสะเดาแห่งที่ 2 ระยะทางรวมประมาณ 5 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งมีความก้าวหน้าก่อสร้างแล้ว 51.5% คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ โดยที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าวได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จ
 

รายงานข่าวจากทล.กล่าวต่อว่า โครงการฯดังกล่าวพบว่ามีปัญหาอุปสรรค เนื่องจากฝ่ายไทยและมาเลเซียได้กำหนดตำแหน่งจุดเปิดพรมแดนอยู่ที่ BP 23/9 -BP 23/10 เพื่อเชื่อมต่อระหว่างด่านสะเดาแห่งที่ 2 ไปยังด่านบูกิตกายูฮิตัม ประเทศมาเลเซีย โดยรัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ ประเทศมาเลเซียได้เข้าพบรักษาการนากยกรัฐมนตรี

 

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 โดยแจ้งความคืบหน้าว่า ประเทศมาเลเซียอยู่ระหว่างเตรียมสำรวจพื้นที่เพื่อปรับแนวเส้นทางถนนเชื่อมต่อด่านฯให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้จะต้องมีการจัดประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อสรุปแนวเส้นทางดังกล่าวด้วย

 

“โครงการฯต้องรอความชัดเจนของถนนและรูปแบบการเชื่อมต่อด่านชายแดนสะเดาแห่งที่ 2 จากประเทศมาเลเซีย ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการต่อได้ เพราะเป็นปัจจัยหลักของความคุ้มค่าการดำเนินโครงการฯ ซึ่งจะส่งผลต่อความไม่แน่นอนของกระแสรายได้โครงการฯค่อนข้างสูง ทำให้ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาระยะเวลาการเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการที่เหมาะสม”

 

ที่ผ่านมาตามผลการศึกษาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (M84) มีแผนดำเนินงานก่อสร้างระหว่างปี 2567-2570 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อเมืองหาดใหญ่กับด่านชายแดนสะเดาแห่งที่ 2 และมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 4 แห่ง และที่พักริมทาง 1 แห่ง (สถานที่บริการทางหลวง)

 

โดยคาดว่ามีปริมาณคาดการณ์จราจรเฉลี่ยประมาณ 20,910 คันต่อวัน ในปีที่เปิดให้บริการ และจะเพิ่มเป็น 46,050 คันต่อวัน ในปีที่ 30 สร้างรายได้ 478 ล้านบาทต่อปี ในปีที่เปิดให้บริการ และเพิ่มเป็น 2,145 ล้านบาทต่อปี ในปีที่ 30 ตามลำดับ

 

ขณะที่การเวนคืนที่ดินอยู่บริเวณด่านชายแดนสะเดาแห่งที่2 ขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านทางหลวงหมายเลข4 ด้านทิศตะวันตก สิ้นสุดบริเวณทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ โดยเป็นการเวนคืนตลอดแนวเส้นทางใหม่ 

ลุ้นเจรจาต่อ “มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-มาเลเซีย” 4 หมื่นล้าน

สำหรับแนวเส้นทางโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ประมาณ กม.1242+135 บริเวณ อ.บางกลํ่า จ.สงขลา แนวมุ่งลงทิศใต้ มีจุดสิ้นสุดที่ กม.62+596 ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ใกล้กับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 อ.สะเดา จ.สงขลา โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมเข้า-ออกสนามบินหาดใหญ่ (Spur Line) ระยะทาง 7.86 กิโลเมตร โครงการฯ ประกอบด้วย

 

1.พื้นที่ศูนย์บริหารทางหลวงพิเศษขนาดประมาณ 14 ไร่ และพื้นที่บริการทางหลวงพิเศษ ตั้งอยู่ 2 ฝั่งของทางพิเศษ มีขนาดพื้นที่ด้านละประมาณ 17 ไร่ 2.ทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง 3.ทางลอด 4. ด่านเก็บค่าผ่านทาง 4 แห่ง 5.อาคารศูนย์ควบคุมด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง 6.ระบบกู้ภัยและจัดการจราจรฉุกเฉิน