กระทุ้ง รฟม.เร่งเปิดบริการรถไฟฟ้า 3 สาย

11 พ.ค. 2566 | 03:00 น.

โรงเรียนเปิด เทอม รถติด กระทุ้ง รฟม. เร่งเปิดให้บริการรถไฟฟ้า 3 สาย “บีทีเอส” ยัน สายสีเหลือง ไม่เลื่อนเปิดให้บริการ ปัดเคยบอกเปิดทดสอบนั่งฟรี 3 เดือน  "สีชมพู" ส่งมอบพื้นที่ช้า ติดพื้นที่ทับซ้อน “สามารถ” ดันเร่งเปิดใช้

 

การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่ ไม่เป็นไปตามแผน และเลื่อนการเปิดให้บริการออกไป ท่ามกลางวิกฤตจราจรติดขัดหนักส่งผลให้ทางเลือกใหม่ในการเดินทาง ต้องรอต่อไป อย่างไรก็ตาม หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ การเมือง ตลอดจน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาเร่งรัดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เร่งคืนผิวจราจรและเปิดให้บริการโดยเร็ว

หลังจากรฟม.ได้ออกมาระบุว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ยังไม่เปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายนนี้  เพราะผู้รับสัมปทานยังต้องแก้ไขในรายละเอียดของงานระบบรถไฟฟ้าหลายระบบซึ่งจำเป็นต้องผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลก่อน จึงจะสามารถเสนอให้ รฟม. พิจารณาการเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการในช่วงทดลองการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ซึ่งตามปกติจะต้องใช้เวลาในการทดสอบการเดินรถไม่น้อยกว่า 3 เดือนและรถไฟฟ้าสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) เปิดทดลองและเปิดเดินรถปี 2567

ต่อเรื่องนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) บริษัทในกลุ่มบีทีเอส ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้า 99.02% ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 ตามแผนไม่มีการเลื่อนเปิดให้บริการ แต่มีกระบวนการที่บริษัทต้องขออนุญาตจากรฟม. พิจารณาในด้านการทดสอบระบบเดินรถและด้านเทคนิค เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เร็วๆ นี้ ตลอดทั้งเส้นทาง

 ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ปัจจุบันแผนงานรวมการก่อสร้างคืบหน้า 96.43% ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมาการก่อสร้างมีความล่าช้า เนื่องจากการส่งมอบพื้นที่บางช่วงล่าช้าและเกิดสถานการณ์โควิด

 “ปัจจุบันสายสีชมพูล่าช้า เนื่องจากยังติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน ร่วมกับโครงการ Floodway ของกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่งบริษัทเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งตามแผนจะเปิดให้บริการภายในปี 2567”

 นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ด้านค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากการคิดค่าโดยสารจะต้องคำนวณค่าโดยสารจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จนถึงวันที่เปิดให้บริการหลังจากนั้นจะต้องนำมาคูณรวมกับในวันที่ลงนามสัญญาด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้ก่อนการเปิดให้บริการ

“ที่ผ่านมาคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารสายสีเหลืองและสายสีชมพูแต่งตั้งโดยกระทรวงคมนาคมมีการหารือถึงโครงการทั้ง 2 สาย จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 3 เดือนนั้น ซึ่งมีการหารือเรื่องนี้หลายครั้ง ไม่เคยบอกว่าจะเปิดให้บริการฟรีถึง 3 เดือน”

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง การก่อสร้างมีความคืบหน้า 99% ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 มองว่ารฟม. ควรพิจารณาขยายเส้นทางจากบริเวณทางแยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวบริเวณทางแยกรัชโยธิน ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารฟม. จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองต้นเดือนมิถุนายนนี้

ต่อมา รฟม. ออกมาปฏิเสธ ระบบรถไฟฟ้าจำเป็นต้องผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลก่อน จึงจะสามารถเสนอให้ รฟม. พิจารณาการเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการในช่วงทดลองการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run)

ทั้งนี้การแถลงข่าวของ รฟม. สร้างความประหลาดใจเนื่องจากเอกชนผู้รับสัมปทานมีประสบการณ์การเดินรถไฟฟ้ามานานกว่า 20 ปี รฟม. จึงควรร่วมมือกับเอกชนเร่งทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในต้นเดือนมิถุนายนนี้ให้ได้ เนื่องจากเป็นช่วงโรงเรียนเปิดเทอม

นายสามารถ กล่าวต่อว่า โครงการสายสีชมพู คืบหน้า 96% ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 ซึ่ง รฟม. แถลงว่าพร้อมที่จะเปิดให้บริการต้นปี 2567 แต่รฟม.ไม่ควรใช้เวลานานถึงเพียงนั้นขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ใกล้เสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้ได้ รฟม. ยังไม่สามารถหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันออกและช่วงตะวันตกได้

เพราะยังมีการฟ้องร้องขอความเป็นธรรมจากการประมูล รฟม. จึงไม่สามารถเซ็นสัญญากับเอกชนที่ รฟม. คัดเลือกไว้ได้ ที่สำคัญจะพยายามหาทางไม่ให้รัฐต้องเสียเงินค่าก่อสร้างแพงเกินความจำเป็นตามที่มีข่าวว่ารัฐอาจจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท