ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนอยากเห็นการตั้งรัฐบาลเร็วไม่สะดุด เพราะหากล่าช้าจะมีความเสียหายต่อการเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งตอนนี้มีภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างซบเซาทั้งจากภาคส่งออกที่ประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกา อียู รวมถึงประเทศจีนเศรษฐกิจทรุดตัว ทำให้การว่างงานสูงกระทบคำสั่งซื้อ
อีกทั้งการท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วง “Low season” ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐไม่สามารถอนุมัติโครงการใหม่
ทั้งหมดเป็นปัจจัยทำให้การบริโภคจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ค่อนข้างเงียบ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการจ้างงานและส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน และอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลเดิมที่เป็นรูปแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่งต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่เก้าด้วย
ทุกฝ่ายรอความชัดเจนตั้งรัฐบาลใหม่
ดร.ธนิต ระบุว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมของ 8 พรรคเพื่อฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นการช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็วหลังผ่านการเลือกตั้งเพียง 8 วัน แต่การเห็นรัฐบาลใหม่คงต้องยืดยาวออกไป จนกว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ขึ้นอยู่กับว่าจะประกาศวันใด แต่คงไม่เกินภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งภาคเอกชนหวังว่าคงไม่จำเป็นจะต้องรอยาวขนาดนั้น
อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาล พ.อ.ประยุทธ์ จะยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการ แต่ช่องว่างที่เป็นสุญญากาศทางการเมืองยังอึมครึม ในเวลาเช่นนี้การเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการใช้งบประมาณ มีข้อจำกัดค่อนข้างมากโดยเฉพาะข้าราชการหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เข้าเกียร์ว่างรอนายใหม่ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในระดับประเทศ
ส่วนรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นขั้วพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย ซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรเป็นแบบแนวคิดเสรีนิยมหรือเสรีนิยมอ่อน ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายและรูปแบบการบริหารประเทศที่ต่างไปจากเดิมทำให้ต่างชาติหรือแม้แต่นักลงทุนไทยอาจต้องเฝ้าคอยความชัดเจน
เอกชนฝากความหวังรัฐบาลใหม่
สำหรับเนื้อในของเอ็มโอยูที่ภาคเอกชนฝากความหวังไว้ มีประเด็นที่สำคัญแยกเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1.ประเด็นการผลักดันปฏิรูประบบราชการและกระบวนการยุติธรรม
ภาคเอกชนต้องการให้แก้ไขระบบราชการในหลายกระทรวงที่ค่อนข้างไม่ตอบสนองต่อยุคสมัย ระบบราชการส่วนใหญ่ยังเป็นลักษณะไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงถึงจะนำระบบดิจิทัล แต่ข้างหลังก็ยังเป็นอนาล็อกที่ใช้ดุลยพินิจของคนเป็นสำคัญ
2.ประเด็นแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
ภาคเอกชนสนับสนุนเต็มที่ขอให้แก้ได้จริงๆ เพราะคอร์รัปชั่นของไทยสะสมยาวนานจนเป็นวัฒนธรรมและอยู่ในดีเอ็นเอ ตั้งแต่ฐานราก คือการซื้อเสียงเลือกตั้งทุกระดับ ไปจนการจัดซื้อ-จัดจ้างของหน่วยงานรัฐ และโครงการเมกะโปรเจ็กของรัฐ จนประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีคอร์รัปชั่นติดอันดับโลก ส่วนหนึ่งงบประมาณของประเทศรั่วไหลไปเป็นหลักแสนล้านบาท การแก้ปัญหานี้คงไม่ได้ แก้ได้ง่าย ๆ
3.ประเด็นการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero based budgeting)
เป็นการปฏิรูประบบงบประมาณโดย ไม่อ้างอิงจากการจัดงบในปีก่อนหน้าเป็นหลัก แต่ใช้ความเร่งด่วนและปัญหาที่ต้องเผชิญในแต่ละปีเป็นสำคัญ ทำให้มีความคล่องตัว ปรับเปลี่ยนเพิ่ม-ลดไปตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที และถือเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยไม่เคยใช้มาก่อน ทำให้การงบประมาณมีประสิทธิภาพความท้าทาย คือจะฝ่าด่านอรหันต์ของข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นกำแพงยักษ์เคยชินกับระบบเก่า ๆ จะทำได้อย่างไร
4.ประเด็นฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ประชาชน
ประเด็นนี้เห็นด้วยแต่ไม่มีรายละเอียด ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลที่ลงนามเอ็มโอยูไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และโรดแมพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ชัดเจนและมีรูปธรรม
กังวลขึ้นค่าแรงไม่มีที่มาที่ไป
ดร.ธนิต ระบุว่า ประเด็นที่เอกชนกังวล คือ การเพิ่มรายได้ประชาชน-ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งคงไม่ได้หมายความว่าจะไปปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดประมาณ 27-30% โดยไม่มีที่มาที่ไป โดยอนุมานว่าขึ้นค่าจ้างสูง ๆ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเศรษฐกิจจะดี และขยายตัวตามค่าจ้าง
คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะผลกระทบไปถึง โครงสร้างต้นทุนของประเทศที่ต้องแข่งขันด้านการส่งออก ค่าจ้างสูงกระทบต่อราคาสินค้า ที่สุดภาระตกไปอยู่กับประชาชนในรูปเงินเฟ้อ อีกทั้งผู้ประกอบการไทย 95% เป็นขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งอาจปิดกิจการกระทบการจ้างงาน แม้แต่ธุรกิจโรงแรมและภาคท่องเที่ยวก็กังวลในเรื่องนี้
นโยบายทลายทุนผูกขาดทำได้ยาก
ส่วนประเด็นยกเลิกผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ข้อนี้สนับสนุนแต่ความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะประเทศไทยปล่อยให้มีการผูกขาดทางการค้าจนแทบไม่เหลือช่องว่างธุรกิจขนาดกลางหรือเล็กจะเข้าไปแทรกและแข่งขันได้
"ยกตัวอย่างกลุ่มธุรกิจค้าส่ง-ปลีกผูกขาดกันเพียงไม่กี่ตระกูล บางรายเจ้าของรายเดียวมี สาขามากกว่า 1.45 หมื่นสาขา ตั้งแต่ถนนใหญ่ไปจนถึงท้ายซอยจะไปแทรกกันตรงไหน แม้แต่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน บริษัทยักษ์ใหญ่ที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่กินมาร์เก็ตแชร์มากกว่าครึ่งของประเทศ"
ประเด็นผูกขาดนี้ยังไม่กล่าวถึงถึงธุรกิจค้า สุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่กี่ตระกูลผูกขาดเป็นเจ้าสัวกันมาอย่างช้านาน เงินเหลือเข้าไปซื้อเกือบทุกกิจการ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ดินสวยๆอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้เกือบหมด เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบต้องทำ กันอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ไปปลูกกล้วยแค่ไม่กี่ต้นถือว่าเป็นที่ดินเกษตรไม่ต้องเสียภาษี
หลายประเด็นยังละเอียดอ่อน
นอกจากที่กล่าวก็ยังมีหลายประเด็นที่เอกชนเห็นด้วย เช่น การดำเนินนโยบายต่างประเทศรักษาสมดุล การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่ประเทศไทยต้องมีความยืดหยุ่นต่อการแข่งขันของประเทศสหรัฐอเมริกา และจีน การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ และการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น Net Zero
รวมถึงการแก้ปัญหายาเสพติด และการนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ซึ่งค่อนข้างมีความท้าทาย เพราะขณะนี้กระจายตัวไปอยู่ในทุกที่ รายเล็กรายน้อยลงทุนไปแล้วจะทำอย่างไร
เตือนรัฐบาลใหม่อย่าเดินเร็วกว่าความคิดคน
ดร.ธนิต ยอมรับว่า MOU หรือข้อตกลงร่วมการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งได้ลงนามไปแล้วเป็นเพียงก้าวแรกของรัฐบาลผสม ยังไม่ ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลจะไปถึงฝั่งได้จริงหรือไม่ ข้อตกลงร่วมส่วนใหญ่เป็นหลักการที่ดีเพียงแต่ในทางปฏิบัติจะทำได้มากน้อยเพียงใด เพราะทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย คะแนนสูสี ในทางรัฐศาสตร์รัฐบาลผสมเสียงก้ำกึ่ง ความขัดแย้งจะสูง เพราะต่างแย่งชิงไหวชิงพริบ
ความกังวลของเอกชนคือ “ข้อตกลงที่เป็น MOU เป็นแค่กระดาษ ใบเดียว” ไม่มีกติกาว่าต้องทำหรือเลิกแต่ละพรรคมี “Agenda” ถึงขนาดทำเป็นสัญญาก็ยังบอกเลิกหรือไม่ทำตามสัญญาก็ยังเป็นคดีอยู่ในศาลมากมาย
ดังนั้นภาคธุรกิจคาดหวังว่ากระบวนการจัดตั้งรัฐบาลควรดำเนินไปอย่างเร่งด่วน ประชาชนฝากความหวังไว้มาก ประเทศไทยเป็นสังคมพหุนิยมประกอบด้วยความหลากหลายทางความคิด
ดร.ธนิต ทิ้งท้ายว่า ยังมีความเป็นห่วงอีกเรื่อง คือรัฐบาลที่เดินก้าวหน้าเร็วกว่าความคิดความอ่านของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง อาจต้องสะดุด จึงจำเป็นที่ต้องมีความรอมชอม อะไรเร็วไปหรือแรงไปอาจต้องค่อย ๆ ผ่อนมิฉะนั้นอาจล้มก่อนที่จะได้เดินด้วยซ้ำไป