นายกฯ ดันกลยุทธ์ ปลุกส่งออกครึ่งปีหลัง 66 เจาะ 7 ตลาดเมืองรองยุโรป

03 มิ.ย. 2566 | 06:12 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2566 | 06:18 น.

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ หนุนรปรับกลยุทธ์ ขับเคลื่อนส่งออกช่วงครึ่งปีหลัง 2566 รุกตลาดส่งออก เจาะ 7 ตลาดเมืองรองในยุโรป คาดโกยรายได้ 1.9 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าภาพรวมส่งออกไทยปี 66 แตะ 1-2%

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมการวางแผนการทำงานในการสนับสนุนการส่งออกไทยช่วงครึ่งปีหลัง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมเดินหน้าขยายตลาดไปยังตลาดเมืองรอง 7 แห่งของยุโรป พร้อมกลยุทธ์ในการผลักดันการส่งออก ครึ่งปีหลัง 2566 เตรียมจัด 350 กิจกรรม ใน 7 ภูมิภาค สร้างรายได้เข้าประเทศรวม 19,400 ล้านบาท 

นายกฯ ดันกลยุทธ์ ปลุกส่งออกครึ่งปีหลัง 66 เจาะ 7 ตลาดเมืองรองยุโรป

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์การส่งออกช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมปรับแผนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกให้ตอบสนองต่อความท้าทาย โดยได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกในตลาด 7 ภูมิภาค พร้อมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 350 กิจกรรม คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 19,400 ล้านบาท
 

 ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ รักษาตลาดเดิม และฟื้นฟูตลาดเก่า ด้วยกลยุทธ์สำคัญ อาทิ การเร่งจัดคณะผู้แทนการค้าเพื่อขยายตลาดศักยภาพ การส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การจับคู่เจรจาธุรกิจทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การผลักดันการส่งออกสินค้า BCG และสินค้านวัตกรรมใหม่ การส่งเสริมธุรกิจบริการมูลค่าสูง และการปูพรมเจาะตลาดเมืองรอง โดยเฉพาะในอาเซียน สหรัฐฯ และยุโรป พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานระหว่างทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัด เพื่อผลักดันสินค้าท้องถิ่นของไทยที่มีศักยภาพออกสู่ตลาดต่างประเทศ ตามแนวทางตลาดนำการผลิต 

 

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ตามแผนงานเพื่อขยายตลาด โดยการเดินหน้าประสานการทำงานร่วมกับ 7 ตลาดเมืองรองยุโรป ได้แก่ ราชรัฐโมนาโก เมืองโบโลญญาและเมืองเจนัว สาธารณรัฐอิตาลี เมืองเอเธนส์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) เมืองคาร์โลวี วารี สาธารณรัฐเช็ก เมืองอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน และเมืองฮัมบูร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดที่สามารถเติบโตได้ เนื่องจากมีความต้องการสินค้าของไทย โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ 
 

“นายกรัฐมนตรีส่งเสริมการวางแผนกลยุทธ์และประเมินสถานการณ์ เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยให้เป็นไปตามเป้าหมาย ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการส่งออก ขยายตลาดที่มีศักยภาพ เจาะตลาดเมืองรอง พร้อมทั้งปรับแผนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกให้ตอบสนองต่อความท้าทาย โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า สินค้าของไทยมีคุณภาพและมีอัตลักษณ์ เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ประกอบกับแนวทางการส่งเสริมเชิงรุกของรัฐบาล จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทยให้ได้ตามเป้าหมาย สร้างรายได้แก่ประเทศและชุมชนท้องถิ่น” นายอนุชาฯ กล่าว