นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้คลุกคลีอยู่กับผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ ได้ให้มุมมองกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทย เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญมากเพราะเกี่ยวข้องกับท่าทีและนโยบายหลายด้านที่อาจจะปรับเปลี่ยนไปภายใต้แนวทางของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจหลายเรื่องที่ต้องรอความชัดเจน เช่น เรื่องค่าแรงขั้นตํ่า 450 บาทต่อวัน เป็นสิ่งที่ค่อนข้างอ่อนไหวและจะกระทบต่อแผนการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศ รวมถึงแผนการลงทุนของต่างชาติที่รอความชัดเจนทำให้อยู่ในสถานการณ์ wait and see
ที่ผ่านมาผลการเลือกตั้งมีความ “ชัดเจน” แต่ยังมีความ “ไม่ชัดเจน” ในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะราบรื่นตามกรอบของกฎหมายหรือไม่อย่างไร ตรงนี้เป็นข้อกังวลของต่างชาติที่สะท้อนมายังหอการค้าฯ ทั้งนี้ หากกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเกิดสะดุดไม่ราบรื่น และยืดเยื้อออกไป จะกระทบต่อการจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณ และกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศอย่างแน่นอน จึงหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศกลับสู่การเดินหน้าอย่างเต็มที่ต่อไป
นายสนั่น กล่าวอีกว่า หอการค้าฯ และภาคเอกชน แสดงจุดยืนชัดเจนโดยหวังกระบวนการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเวลานี้กลไกการทำงานของข้าราชการมีความสำคัญมากที่ต้องขับเคลื่อนภารกิจให้เกิดความต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาและเตรียมแนวทางรองรับกับนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนไปจากว่าที่รัฐบาลชุดใหม่
“ในระหว่างกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หลายหน่วยงานยังคงเดินหน้าดึงดูดการลงทุนตามแผนที่วางไว้ ยกตัวอย่าง กระทรวงการต่างประเทศ หอการค้าฯ และบีโอไอ ได้นำคณะภาคธุรกิจไทยเดินสายกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับซาอุดีอาระเบียเพื่อตอกยํ้าความคืบหน้าและขยายโอกาสใหม่ๆ ในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายนที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นผู้นำคณะภาคเอกชนไทยไปด้วยตนเอง ซึ่งหอการค้าฯ หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาจะสานต่อภารกิจนี้ร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดและมีความต่อเนื่องมากขึ้น”
ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมา หอการค้าฯ และ บีโอไอ ได้มีการพบปะหารือในประเด็นการวางแผนดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งบีโอไอได้ขอคำแนะนำจากหอการค้าฯ ในการจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และยังได้มีแผนที่จะร่วมมือกันจัดกิจกรรมโรดโชว์เชิงรุก เพื่อเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุน พร้อมแสวงหาโอกาสและขยายตลาดใหม่ ๆ ในประเทศที่มีศักยภาพ ได้แก่
1.จีน มีการจัดตั้งคณะทำงานระหว่างหอการค้าไทยกับสถานเอกอัครราชทูตจีนฯ ทำการศึกษาวิจัยโอกาสการส่งเสริมการค้า การลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ปัจจุบันดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างกำหนดกรอบการขับเคลื่อนตามแผนการศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม EV Car เป็นต้น
2.ซาอุดีอาระเบีย ภายหลังมีการฟื้นฟูและยกระดับความสัมพันธ์ มีการเดินทางเยือนของผู้นำระหว่าง 2 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว วันนี้ภาคธุรกิจไทยและซาอุฯ มีความคืบหน้าที่สำคัญในหลายสาขาธุรกิจ อาทิ กลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจภาคการบริการ (บริการสุขภาพ สปา ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โรงพยาบาล โรงแรมกลุ่มหุ้นส่วนห่วงโซ่อุปทาน) ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงาน อะลูมิเนียม อาหารและเกษตร และการเงินและการธนาคาร
“ที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยและซาอุฯ ได้มีการลงทุนและร่วมกันลงทุนในหลายโครงการใน 2 ประเทศแล้ว รวมถึงการหารือกับซาอุฯ ถึงการเดินหน้าพูดคุยเพื่อจัดทำ FTA ระหว่างไทย-ซาอุฯ รวมถึงกลุ่ม GCC ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด”
3.เวียดนาม หอการค้าไทยและหอการค้าฯ เวียดนาม พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรมและแผนงานต่างๆ ที่สอดคล้องกับ MOU ที่ภาคเอกชน 2 ประเทศได้ลงนามร่วมกันไว้ เพื่อยกระดับความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ส่งเสริมการลงทุนตรง ระหว่างนักธุรกิจทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568
4.อินเดีย หอการค้าไทยสนับสนุนการขยายการลงทุนไปตลาดใหม่อย่างอินเดีย จากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และยังมีโอกาสของสินค้าไทยในหลากหลายสาขา ไปพร้อม ๆ กับการดึงดูดกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยามายังพื้นที่ EEC ของไทย รวมถึงมุ่งรักษากลุ่มนักลงทุนเดิมที่สำคัญอย่างญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ด้วย