"เอลนีโญ" ฉุดภาคการเกษตรเสี่ยงเจ๊ง 3.5-4.5 หมื่นล้านบาท

03 ก.ค. 2566 | 04:38 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2566 | 04:39 น.

"เอลนีโญ" อาจมีผลกระทบภาคการเกษตร และผลผลิตด้านเกษตรกรรม เสี่ยงเสียหายปลายปี 66 ถึงต้นปี 67 มูลค่าประมาณ 3.5-4.5 หมื่นล้านบาท ขณะภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังนี้ยังมีแนวโน้มฟื้นตัว

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการสภาวิจัย สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงมุมมองต่อ "ภาพรวมเศรษฐกิจไทย" ครึ่งปีหลังของปี 66 ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงผลกระทบจากภัยแล้ง "เอลนีโญ" โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม แต่เชื่อว่าผลกระทบจะยังคงมีจำกัด ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรกรรมไม่เกิน 35,000-45,000 ล้านบาท และ ความเสียหายอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปี 67

ส่วนอัตราเงินเฟ้อเชื่อว่าชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 66 จากการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ยังสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ค่อนข้างดี ทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมไม่น่าจะมากกว่า 0.50% และน่าจะยุติอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่ระดับ 2.5%

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

แม้ในระยะสั้นเงินบาทจะได้รับแรงกดดันอ่อนค่าจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ แต่ช่วงปลายปีค่าเงินน่าจะแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 31-32 บาทต่อดอลลลาร์ได้จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด การฟื้นตัวแรงของภาคการท่องเที่ยว และกระแสเม็ดเงินไหลเข้า

ขณะที่ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะ "พ้นจุดต่ำสุด" แล้ว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา (26-30 มิ.ย. 66) ดัชนีหุ้นไทยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี 5 เดือนที่ระดับ 1,461.61 จุด ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย และตลาดการเงิน อาจสวิงตัวขึ้นลงจากปัจจัยการเมือง

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น จากกระแสเงินทุนไหลเข้าที่ทำให้ฟื้นตลาดการเงินของไทย และตลาดเอเชีย รวมไปถึงภาคท่องเที่ยว ภาคการบริโภค และภาคการลงทุนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น

ทำให้คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวปีนี้อาจแตะ 1.3 ล้านล้านบาท โดยจะช่วยเข้ามาสนับสนุนให้ตลาดแรงงานภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวเกือบเท่าระดับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในช่วง โควิด-19