การเมืองวุ่น ผวานักลงทุนเผ่น “เวียดนาม-อินโดฯ-มาเลย์” รอส้มหล่น

21 ก.ค. 2566 | 08:58 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2566 | 09:24 น.

ผวาการเมืองป่วน ตั้งรัฐบาลลากยาว ทุนใหม่ต่างชาติรอไม่ไหว ตัดสินใจย้ายเข้าเวียดนาม อินโดฯ มาเลย์ หลังการเมืองเสถียรกว่า ลงทุนและวางแผนผลิตได้ตามไทม์ไลน์บริษัทแม่ หอการค้าฯห่วง 5 วาระเร่งด่วนเคว้ง ขณะ “ซีเจ มอร์”มั่นใจได้รัฐบาลใหม่ดีกว่าเดิม ควักลงทุนเพิ่ม 4 พันล้าน

ข้อมูลจากบีโอไอ ช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 155,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115% โดยเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน ขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก(แง่เงินลงทุน) เงินลงทุน 31,400 ล้านบาท 29,742 ล้านบาท และ 25,001 ล้านบาทตามลำดับ โดยที่ทั้งปี 2566 บีโอไอตั้งเป้าหมาย การขอรับการส่งเสริมจากทั้งนักลงทุนไทยและ FDI 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งจากเวลานี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ผ่านกว่า 2 เดือนหลังการเลือกตั้งยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ และสถานการณ์ส่อยืดเยื้อหลังโหวตนายกรัฐมนตรีผ่านไปสองรอบยังไม่สำเร็จ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงมีการประท้วงและลงถนน หากสถาน การณ์มีความรุนแรงมากขึ้น เกรงจะกระทบกับภาพลักษณ์ประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งหากได้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ล่าช้าเกินกว่าไทม์ไลน์ที่คาดการณ์กันไว้ในเดือนสิงหาคม นักลงทุนต่างชาติที่มีแผนการลงทุนใหม่ในไทย หรือย้ายฐานการลงทุนเข้ามาในประเทศอาจจะตัดสินใจย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่เป็นคู่แข่งสำคัญ

การเมืองวุ่น ผวานักลงทุนเผ่น “เวียดนาม-อินโดฯ-มาเลย์” รอส้มหล่น

“นักลงทุนหากเป็นคนไทยจะรอดูสถานการณ์ได้นาน 3 เดือน 5 เดือน 6 เดือน แต่ถ้าเป็นนักลงทุนต่างชาติ ถ้ารอซักเดือนสองเดือน เขาก็ยังพอไหว สมมุติไทม์ไลน์ต้องได้รัฐบาลภายในสิงหาคม เลื่อนไป 1 เดือนเป็นกันยายนเขายังพอที่จะอนุโลมว่าพอรอได้ เขาอาจจะคุยกับทางบอร์ด หรือคณะกรรมการบริหารของบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศให้เข้าใจ แต่ถ้ารอ 3 เดือน 4 เดือน 5 เดือน บางครั้งจะกระทบกับแผนการผลิต และแผนการทำธุรกิจที่วางไว้ แม้เขาอยากจะมาใช้ฐานในไทย หรือย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วยทุกเหตุผล แต่ท้ายสุดอาจจะทำให้บอร์ดเขาพิจารณาว่าไม่รอ เพราะไม่รู้จะชัดเมื่อไหร่ ก็อาจจะให้พิจารณาย้ายไปประเทศที่เป็นช้อยส์สำรอง เช่น อาจจะไปเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ขึ้นอยู่กับชนิดอุตสาหกรรม หรือธุรกิจที่เขาจะลงทุน”

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  • ยํ้าเหตุผลทำไมต้องได้ตามไทม์ไลน์

ที่ผ่านมาส.อ.ท.และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็ทำงานกับทุกรัฐบาลได้อยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่อย่าล่าช้าให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาคเอกชนชะงักงัน การลงทุนทุกอย่างหยุดหมด หรือเดินไปได้ไม่ได้ดี ซึ่งภายใต้สถานการณ์ของการแข่งขันอย่างรุนแรงทั่วโลก มีปัญหาต่าง ๆ ที่รอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาขับเคลื่อนจำนวนมาก ดังนั้นภาคเอกชนต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามไทม์ไลน์ เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องออกมาพูดซํ้าแล้วซํ้าอีกในเรื่องนี้

นอกจากนี้ห่วงการเมืองจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาเพื่อทำความตกลงการค้าเสรี(FTA) กับหลายประเทศที่ยังค้างอยู่ (EU, UAE, EFTA, แคนาดา, ศรีลังกา, ตุรกี) เฉพาะอย่างยิ่งเอฟทีเอไทย-EU ที่เพิ่งเริ่มต้นเจรจาครั้งใหม่ หลังหยุดชะงักมานานกว่า 9 ปี (อียูอ้างเหตุผลประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยหลังมีการทำรัฐประหารในยุค คสช.) ซึ่งการเจรจาใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีจะแล้วเสร็จและสรุปผล หากยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ที่สร้างความเชื่อมั่นการเจรจาอาจชะลอออกไปได้

การเมืองวุ่น ผวานักลงทุนเผ่น “เวียดนาม-อินโดฯ-มาเลย์” รอส้มหล่น

  • 5 เรื่องใหญ่รอขับเคลื่อน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศยังมีความลังเล และชะลอการลงทุนเพื่อรอดูทิศทางและสถาน การณ์การจัดตั้งรัฐบาลของไทย ขณะที่หอการค้าไทยมีความเป็นห่วงใน 5 เรื่องสำคัญหากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้าไปจากไทม์ไลน์ (ควรแล้วเสร็จในระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย.) ได้แก่ 1.ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะ มาตรการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ หากตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าจะกระทบกับกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง และกระทบ SMEs ที่ยังรอมาตรการช่วยเหลือเรื่องแหล่งเงินทุน

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 2.ปัญหาภัยแล้งที่มีสัญญาณจากเอลนีโญมีความชัดเจน หากไม่มีแผนรับมืออย่างเร่งด่วนและจริงจัง จะกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร 3.การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ยังค้างท่อและการจัดงบประมาณประเทศล่าช้า แม้จะสามารถใช้งบประมาณในตัวเลขเดิมได้ แต่ประเทศต้องการฝ่ายบริหารเข้ามาการตัดสินใจและการวางมาตรการเยียวยาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศในช่วงเวลานี้

 4.ปัญหาค่าพลังงานงานสูง ต้นทุนต่าง ๆ ยังคงอยู่ระดับสูง ซึ่งส่งผลกับค่าครองชีพของประชาชน 5.ความชัดเจนของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่แต่ละพรรคเสนอไว้หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงต้องติดตามทิศทางและความชัดเจน ซึ่งทำให้ประเทศเสียโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินใหม่ ๆ เข้ามา

  • หนี้เสียพุ่งลามบ้านรถถูกยึด

นายปฐมกฤษฎ์ นวประดิษฐ์กุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะโซล จำกัด ซึ่งอยู่ในภาคการท่องเที่ยว กล่าวว่า เวลานี้หลายฝ่ายได้พยายามหาคนที่ได้รับการยอมรับเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ เพราะทุกคนรู้ว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดี ตัวเลขหลายตัวชี้ชัดจะมีปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นหนี้เสีย เงินเฟ้อ เงินไม่มีหมุน รถยนต์กำลังจะถูกยึดนับล้านคัน ซึ่งอาจลามเป็นโดมิโนมาถึงบ้านที่จะถูกยึด ซึ่งรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นใครแต่อยากได้คนที่รู้ปัญหาเร่งเข้ามาแก้ไขเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไป

“สิ่งที่ภาคธุรกิจกังวล คือปัญหาเศรษฐกิจเพราะมีวิกฤตหลายด้านที่ประดังเข้ามา จากผลกระทบที่เกิดจากโควิด ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาได้แค่ประคอง ปัญหาไม่ได้หายไป แต่กำลังจะบ่มเพาะและใกล้จะระเบิด ตอนนี้เราก็หวังจะให้คนที่มีความสามารถพอในการเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ขณะนี้เรารู้สึกได้เลยว่าหลังการเลือกตั้งทุกอย่างลดลงครึ่งหนึ่งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นรายรับหรือรายได้ ในแทบจะทุกสาขาอาชีพลดลงกว่าครึ่ง ซึ่งตรงนี้น่ากลัวมาก และทุกคนรอดูว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง ธุรกิจวางกลยุทธ์ค่อนข้างลำบาก เพราะนโยบายเศรษฐกิจยังไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน จากยังมีความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นตัวแปรสำคัญ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้ง ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ”

  • เชื่อได้รัฐบาลใหม่ดีกว่าเดิม

นายวีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ส่งผลต่อการใช้จ่ายของงบประมาณภาครัฐ ซึ่งจะส่งต่อเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้กระทบไปยังกำลังซื้อผู้บริโภค 100% อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะมีการพลิกขั้วการจัดตั้งรัฐบาล โดยให้พรรคที่มีคะแนนเสียงอันดับ 2 เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เชื่อว่าจะดีกว่ารัฐบาลเดิม เพราะอย่างน้อยก็มีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อยก็ต้องเอาใจประชาชน ขณะที่รัฐบาลเดิมตลอดกว่า 8 ปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นเรื่องของความมั่นคงเรื่องเศรษฐกิจเป็นประเด็นรอง

วีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่ในสถานการณ์ถดถอย แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยไม่น้อย แต่จากที่พูดคุยกับกองทุนต่าง ๆ จะเห็นว่าในสายตาของนักลงทุนต่างชาติอาเซียนยังดีกว่าแถบยุโรป หรืออเมริกา ในแง่ของผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย ด้วยหลาย ๆ ปัจจัยและยังมีช่องว่างให้เติบโตได้

  • ขยายลงทุน 4 พันล้าน

สำหรับในปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องโดยคาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3,000 ล้านบาท สำหรับการขยายสาขาภายใต้แบรนด์ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต และซีเจ มอร์ 250 สาขา และการวางระบบด้านไอที และอีก 1,000 ล้านบาทเป็นการลงทุนคลังสินค้าที่จังหวัดขอนแก่น แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะทำให้การเดินหน้าธุรกิจเหนื่อย แต่บริษัทยังเชื่อว่าในปีนี้จะทำรายได้ 4 หมื่นล้านบาท มีกำไรกว่า 2,500 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 3.5 หมื่นล้านบาท และกำไร 1,770 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ทะลุ 1 แสนล้านบาทในปี 2573 ขณะเดียวกันบริษัทชะลอแผนการนำธุรกิจค้าปลีกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ออกไปก่อนจากเดิมที่จะยื่นในปีนี้

“เรื่องของเศรษฐกิจ หุ้น กับการเมืองเป็นเรื่องที่แยกกันยาก ซึ่งจากการศึกษาจะเห็นว่า บรรยากาศตลาดหุ้นปีนี้ ไม่ใช่ตลาดที่ดี ทำให้บริษัทชะลอการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออกไปก่อน ส่วนมีแผนจะยื่นไฟล์ลิ่งเมื่อไร ต้องดูกันอีกครั้ง เพราะแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ดีเท่ากับช่วงก่อนโควิด”

  • ห่วงนโยบายทำนักลงทุนสับสน

นายโสภณ ราชรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะแต่ละพรรคมีนโยบายที่คล้ายหรือแตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนมีความสับสนได้ และสถานการณ์ทางการเมืองมักจะมีผลทางอ้อมกับการลงทุนด้วย

“การตัดสินใจลงทุนจะต้องมีการทำงานร่วมกันตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งนักลงทุนคงขอดูนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาลก่อน เราไม่คิดว่าจะกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนมากนักและยังสามารถไปได้ดี เพราะไทยอยู่ในจังหวะที่ดีมาก ซึ่งมีพื้นที่อีอีซีที่ประกาศตัวในช่วงเวลาที่ดีมาก ซึ่งอยากเห็นนโยบายภาครัฐมีการเดินหน้าต่อเนื่อง”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3907 วันที่ 23 -26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566