ว่างงานพุ่ง-กำลังซื้อหด โจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่ กู้เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

30 มิ.ย. 2566 | 07:45 น.
อัพเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2566 | 08:31 น.

“ธนิต โสรัตน์” ประเมินสภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจครึ่งปีแรกชะลอตัวเกือบทุกประเทศ ว่างงานสูงสุดรอบ 6 เดือน การจับจ่ายใช้สอยอยู่ในสภาวะอ่อนแอ ถือเป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่ กู้เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความวิชาการ เรื่อง สภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจครึ่งปีแรก พ.ศ. 2566 โดยระบุตอนหนึ่งว่า บริบทประเทศไทยภายใต้พลวัตเศรษฐกิจชะลอตัวที่เกิดกับเกือบทุกประเทศ 

โดยการส่งออก 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม 2566) ที่ชะลอตัว โดยมีมูลค่าเชิงดอลลาร์สหรัฐหดตัวถึง 5.09% (ติดลบต่อเนื่อง 8 เดือน) มีผลโดยตรงต่อภาวะการทำงานทั้งภาคการผลิตและบริการ สะท้อนจากอัตราการว่างงานเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 1.3% สูงสุดในรอบ 6 เดือน ทำให้มีจำนวนผู้ว่างงานถึง 5.151 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่สมัครใจลาออกเพิ่มขึ้นถึง 1.9 เท่า

ข้อมูลที่น่าสนใจเดือนพฤษภาคมมีผู้ที่ทำงานน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ น่าจะเป็นผู้ว่างงานแฝงมีจำนวนสูงถึง 5.232 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 1.29% ของกำลังแรงงานของประเทศ ข้อมูลตัวเลขการว่างงาน ซึ่งได้มาจากการสำรวจและข้อจำกัดของนิยามคงจะต้องมีการติดตามว่าจะสามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ดร.ธนิต ระบุว่า กระจกส่องเศรษฐกิจของประเทศนอกเหนือจากอัตราการว่างงานสามารถสะท้อนได้จากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนซึ่งอยู่ในสภาวะอ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2566 ขยายตัวเพียง 0.53% จากค่าเฉลี่ยปีที่แล้ว 6.08% 

นอกจากนี้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเกี่ยวข้องโดยตรงกับหนี้ครัวเรือนสูงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างถึงแม้นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะลดลงแต่มูลหนี้ในช่วง 4 ปีเพิ่มสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท หนี้ในระบบธนาคารพานิชย์ซึ่งเป็นหนี้กำลังเสียและหนี้เสีย ณ ไตรมาสแรก ปี 2566 มีจำนวน 9.5 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้ถือเป็นปัญหาที่รัฐบาลใหม่จะต้องให้ความสำคัญเนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ครบกำหนดระยะเวลาเกี่ยวข้องกับหนี้ธุรกิจ หนี้ผ่อนบ้าน หนี้ผ่อนรถ รวมถึงหนี้นอกระบบซึ่งแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายในการแก้ปัญหาหนี้ส่วนจะทำได้มากน้อยเพียงใดคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ภาพประกอบข่าวภาพรวมเศรษฐกิจไทย

สภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังที่รัฐบาลยังคงตั้งเป้าหมาย GDP ขยายตัว 3.5% และการส่งออกจะยังคงเป็นบวกเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่เห็นว่าจะได้ใครมาเป็นดรีมทีมด้านเศรษฐกิจ 

แต่จากตัวเลขการนำเข้าที่หดตัวโดยเฉพาะสินค้าประเภททุนและเครื่องจักรที่ 5 เดือนแรกมูลค่าการนำเข้าหดตัว 0.84% จากที่ขยายตัวในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10.3% และการนำเข้าวัตถุดิบ-สินค้ากึ่งสำเร็จรูปหดตัว 7.9% จากที่ขยายตัวในช่วงเดียวกัน 11.8% การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัว 0.24% จากที่เคยขยายตัว 9.72%

ดร.ธนิต กล่าวว่า ข้อมูลนี้บ่งบอกได้ว่าครึ่งปีแรกกำลังการผลิตและการลงทุนหรือเพิ่มเครื่องจักรจะไม่ขยายตัวสอดคล้องกับการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JCC) ระบุว่าบริษัทญี่ปุ่น 512 รายในช่วงครึ่งปีหลัง 41% จะไม่ลงทุนเครื่องจักรและขยายการผลิต และ 13% จะชะลอหรือลดกำลังการผลิต 

ในจำนวนผู้ตอบแบบตัวอย่างพบว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจสูงถึง 63% ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับการสำรวจความเชื่อมั่นเดือนมิถุนายนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “FTI Poll” ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจเป็นผลจากอุปทานตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศหดตัว ทำให้มีการแข่งขันด้านราคาสูง รวมถึงการปรับอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะความกังวลประเด็นการเมืองที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ

 

ข้อมูลเศรษฐกิจไทยปี 2566 สศช.

 

ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นเพียงเครื่องจักรเดียวที่ค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศ คือภาคท่องเที่ยว ซึ่งตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ 30 ล้านคนแต่ครึ่งปีแรก (ม.ค.- มิย.) นักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมยังไม่ถึงครึ่งโดยมีจำนวน 12.464 ล้านคน 

โดยนักท่องเที่ยวจีนตั้งเป้าทั้งปี 5 ล้านคนแต่ช่วงครึ่งปีแรกมีเพียง 1.384 ล้านคน เป็นผลจากเศรษฐกิจของจีนที่ยังซึมและรัฐบาลไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ทำให้รายได้ท่องเที่ยวทั้งในและต่างชาติอาจไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 2.38 ล้านล้านบาท 

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฝากความหวังไว้ที่ “การส่งออก” จะกลับมาเป็นบวกซึ่งเป็นความท้าทายค่อนข้างสูง รวมถึงการได้รัฐบาลใหม่ที่มีทีมงานเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและเป็นตัวจริง รู้ปัญหาจริง ทำงานในลักษณะเป็น “Dream Team” ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นทั้งด้านการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน รวมถึงออกมาตรการที่จำเป็นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ