เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงที่เหลืองของปี 2566 เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์การเมือง หากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง ทั้งเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่ภาคเอกชนเองฝากความหวังไว้ที่ “ดรีมทีมรัฐบาลใหม่” จะเข้ามาบริหารประเทศ
รวมไปถึงมาตรการภาครัฐต่าง ๆที่จะต้องออกมาเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวให้ได้ตามเป้าหมายที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งไว้ที่ 2.7-3.7% ได้หรือไม่
ฝากความหวังดรีมทีมรัฐบาลใหม่
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปี คงต้องหลังฝากความหวังไว้ที่ภาคการส่งออกให้กลับมาฟื้นตัวเป็นบวก ซึ่งถือเป็นความท้าทายค่อนข้างสูงของการขับเคลื่อนเป้าหมายนี้
รวมถึงการได้รัฐบาลใหม่ที่มีทีมงานเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและเป็นตัวจริง รู้ปัญหาจริง และต้องทำงานในลักษณะเป็นดรีมทีมด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งด้านการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนรวมถึงออกมาตรการที่จำเป็นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
นายธนิต ระบุว่า สภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง รัฐบาลยังคงตั้งเป้าการขยายตัวจีดีพีไว้ที่ 3.5% โดยปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยตอนนี้มีเพียงเครื่องจักรเดียวที่คํ้าจุนเศรษฐกิจของประเทศคือภาคท่องเที่ยว ซึ่งตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ 30 ล้านคนแต่ครึ่งปีแรก นักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมยังไม่ถึงครึ่งโดยมีจำนวน 12.464 ล้านคน
ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.3% สูงสุดในรอบ 6 เดือน ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคจากนี้ด้วย
หวั่นขึ้นค่าแรงทุบเศรษฐกิจ
น.ส.ลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังของปี 2566 จะออกมาเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะเป็นใครเข้ามาบริหารประเทศ และมีนโยบายหลักที่จะผลักดันออกมาเป็นอย่างไร
แต่สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ คือ นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคเอกชนแน่นอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เนื่องจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมามีการปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 5% ทั่วประเทศแล้ว หากมีการปรับขึ้นค่าแรงในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี อาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ โดยเฉพาะงานก่อสร้างในโครงการของรัฐบาล
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีความท้าทาย ต้องเฝ้าระวัง ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ต้นทุนพลังงานวัสดุก่อสร้าง การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยและปัญหาความเข้มงวดของสถาบันการเงินเป็นเหตุให้ ถูกปฏิเสธสินเชื่อที่เป็นปัญหามาจากหนีครัวเรือน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องระมัดระวังการเปิดตัวโครงการเพื่อไม่ให้เป็นสต็อกที่เพิ่มขึ้น
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) สะท้อน สถานการณ์ช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีปัจจัยท้าทาย ทั้งเรื่องต้นทุนวัสดุก่อสร้าง แบงก์ชาติปรับอัตราดอกเบี้ย ลูกค้ามีต้นทุนทางเงินที่สูงขึ้น ดังนั้นทิศทางการลงทุนนับจากนี้ บริษัทเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางบนมากขึ้น เพราะกำลัง ระดับล่าง มีปัญหาถูกปฏิเสธสินเชื่อ
คาดส่งออกฟื้นครึ่งปีหลัง
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยว่า การส่งออกที่ยังติดลบต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เมื่อพิจารณาจากฐานข้อมูลเปรียบเทียบกับการส่งออกในปี 2565 สรท.ประเมินว่าการส่งออกไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป จากประเทศคู่ค้ายังเผชิญความเสี่ยงความมั่นคงด้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังต้องนำเข้าสินค้าในนี้
รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์คลี่คลาย ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย อาทิ ข้าว ผลไม้ อาหารและนํ้าตาล ยังขยายตัวดี โดยสรท.คาดภาพรวมส่งออกไทยยังขยายตัวได้ 1-2%
ท่องเที่ยวหวังปลายปีคึกคัก
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ความท้าทายในช่วงครึ่งปีหลัง คือ ตัวเลขนักท่องเที่ยวในไตรมาสนี้เริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซัน และจะเข้าไฮซีซันอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาแม้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเกิน 2 ล้านคนต่อเดือน จนทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 12.8 ล้านคน แต่ก็ตํ่ากว่าเป้าหมายครึ่งปีแรก 13 ล้านคน
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ความท้าทายด้านการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีอยู่ที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งครึ่งแรกปีนี้เดินทางเข้าไทยได้เพียง 1.3 ล้านคนเท่านั้น อาจทำให้ทั้งปีทำได้ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ 5-7 ล้านคน สาเหตุเพราะมีการวางเงื่อนไขในการอนุมัติวีซ่าเพื่อป้องกันทุนจีนสีเทา หรือ แก๊งจีนที่ใช้ประเทศไทยหากินแบบไม่ถูกต้อง
ลุ้นกำลังซื้อฟื้นประคองเศรษฐกิจ
นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า กำลังซื้อในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงโควิดเริ่มดีขึ้น แต่ 2 เดือนนี้เมื่อคนไทยต้องเจอกับปัญหาค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่สูงขึ้น ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน ค่านํ้า ทำให้กำลังซื้อโดยรวมสะดุดไปเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี คาดหวังว่า 2 เดือนข้างหน้าหากรักษาระดับได้ และสถานการณ์ก็ไม่น่าจะแย่ไปกว่านี้ เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์น่าจะปรับตัวดีกว่าครึ่งปีแรก
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานที่ปรึกษา โรงพยาบาล ธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังไม่ดีขึ้น จากการส่งออกลดลงต่อเนื่องมา 8 เดือน แถมยังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ การขาดดุลงบประมาณ หนี้ครัวเรือนสูง และปัญหาผู้สูงอายุ
ขณะที่เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสมัยเก่า ขาดการปรับทักษะและการฝึกฝนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จะหวังพึ่งพาด้านการท่องเที่ยวก็คงไม่เพียงพอกับการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
เชื่อกำลังซื้อไอที-โมบายฟื้น
นายดุสิต สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด หรือ Jaymart Mobile เชนสโตร์สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ไอที รายใหญ่ กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า ภาพรวมกำลังซื้อสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ในครึ่งปีหลังจะฟื้นกลับคืนมา โดยในไตรมาส 3 ได้อานิสงส์จากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ตั้งแต่ OPPO Samsung และ Apple
ส่วนไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วงไฮซีชัน ที่มีการจับจ่ายใช้สอยสูงสุดนั้นคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับคืนมา โดยมีนักท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ
นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า กำลังซื้อไอทีครึ่งปีหลังปีนี้น่าจะฟื้นกลับคืนมาหลังครึ่งปีแรกชะลอตัวไป โดยนอกจากเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาแล้ว ยังมีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญคือการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น มีการจัดตั้งรัฐบาล และการท่องเที่ยวที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว