“กรมเจ้าท่า” อัปเดตเมกะ โปรเจกต์ท่าเรือ มั่นใจสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล

10 ส.ค. 2566 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2566 | 04:16 น.

“กรมเจ้าท่า” ตามติดเมกะโปรเจกต์พัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ และศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล คาดศึกษาเสร็จปี67 หวัง เพิ่มขีดการแข่งขันการท่องเที่ยวของประเทศและเพิ่มรายได้ กระตุ้นการท่องเที่ยวเรือสำราญ

 

 

นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) ว่า หลังจากได้มีการดำเนินการศึกษา รูปแบบโครงการลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) จำนวน 3 โครงการ ขณะนี้ความคืบหน้าผลการศึกษาในภาพรวม  อยู่ประมาณ 60 %  และคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2567 

นายกริชเพชร ชัยช่วย รักษาราชการแทน อธิบดีกรมเจ้าท่า

ประกอบด้วย 1. โครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงิน 18 ล้านบาท

“กรมเจ้าท่า” อัปเดตเมกะ โปรเจกต์ท่าเรือ มั่นใจสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล

2. โครงการศึกษาวางแผนแม่บท เพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน วงเงินรวม 69.21 ล้านบาท และ3. โครงการศึกษาสำรวจออกแบบ ท่าเรือต้นทาง (Home Port)

สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน วงเงินรวม 68.94 ล้านบาท หลังได้ข้อสรุปที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ท่าเรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) คือเป็นท่าเรือต้นทาง (Home port) รองรับเรือขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 1,500 คน และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of call) สำหรับรองรับเรือขนส่งผู้โดยสาร 3,500 - 4,000 คน

ทั้งนี้มั่นใจว่า  การพัฒนาท่าเรือรองรับเรือครูส จะช่วยสนับสนุนธุรกิจเรือครูสในประเทศไทยได้อย่างครอบคลุมเส้นทางทั้งสองฝั่งทะเล เป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสัดส่วนรายได้ด้านการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวเรือสำราญ เพิ่มการจดทะเบียนเรือท่องเที่ยว  โดยเรือครูส 1 ลำ นำเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ประมาณ 21 ล้านบาท/วัน/ลำ หากเรือครูสแวะเข้าเทียบท่าจำนวนมากขึ้น และจอดท่องเที่ยวในเมืองไทยนานขึ้น จะสร้างเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวมากขึ้นไปด้วย อีกทั้งในกรณีที่ท่าเทียบเรือได้รับการพัฒนาให้เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นจากที่ได้กล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 - 8 เท่า

“กรมเจ้าท่า” อัปเดตเมกะ โปรเจกต์ท่าเรือ มั่นใจสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล

ส่วนการศึกษาพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) ซึ่งเริ่มการศึกษาข้อมูลโครงการในปีนี้  คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี  2567 เช่นเดียวกัน เป็นการศึกษาความเหมาะสม  และจัดทำข้อมูลโครงการท่าเรือมารีน่าชุมชน 1 จังหวัด 1 ท่า หรือทั้งหมด 6 ท่า ใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล โดยจะทำการศึกษาระหว่างปี 2566 ถึง 2567 รูปแบบการลงทุนในอนาคต เชื่อว่าเมื่อภาครัฐมีการชี้จุดพื้นที่เป้าหมาย ชัดเจน มีการอำนวยความสะดวก ในแง่ของข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน เอกชนที่มีศักยภาพ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมก็สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้