แบงค์ชาติเอาแต่รักษาเสถียรภาพมากเกินไป หนี้ครัวเรือนเพิ่ม-ศก.ทรุด

11 ส.ค. 2566 | 07:48 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2566 | 07:56 น.

อดีตขุนคลัง เผยแบงค์ชาติ รักษาเสถียรภาพมากจนเกินไป ไม่ปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจมีความเจริญเติบโต ทำให้ประชาชนมีรายได้น้อย ยากจนลง เป็นหนี้มากขึ้น จัดตั้งรัฐบาลล่าช้าการเงิน-ลงทุนชะลอตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ มหภาค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า และการ​รักษาเสถียรภาพ​มากเกินไปของแบงค์ชาติ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเจริญเติบโตต่ำ​ เป็นผลให้ประชาชนมีรายได้น้อยลง​   ยากจนลง และเป็นหนี้มากขึ้น”

2. การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย เป็นสาเหตุให้ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังแย่ลง, GDP ปี 2566 นี้ ที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้ๆ 4% กำลังลดลงมาเรื่อยๆ อาจเหลือเพียง 3% การตั้งรัฐบาลล่าช้า​  ทำให้ภาคการเงินและการลงทุนชะลอตัวลงอย่างมาก 

 

3. นอกจากนี้ แบงค์ชาติ​ดูจะใช้นโยบายรักษาเสถียรภาพ​ทางเศรษฐกิจมากเกินไป ตั้งกรอบความเจริญเติบโตเพียง 3-4% ไม่ทำให้กรอบของระบบเศรษฐกิจเติบโตได้ถึง 5-6%​ ทำให้ประชาชนมีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น​ ต้องไปกู้มากินมาใช้​ภาระหนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนี้กว่า​ 90% ของ​ GDP คือกว่า 15 ล้านล้านบาท รัฐบาลก็มีรายได้ภาษีต่ำ​จึงต้องไปกู้มาบริหารประเทศ​ หนี้รัฐบาลต่อ​ GDP​ จึงกว่า​ 60% คือกว่า 10 ล้านล้านบาทแล้ว

4. อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันต่ำเพียง 0.3-0.5% ​ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% อย่างมาก แต่แบงค์ชาติยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง อ้างว่าดอกเบี้ยที่เคยต่ำ ทำให้มีการกู้เงินเกินความจำเป็น ไปทำโครงการที่ผลตอบแทนต่ำ​ แล้วไปไม่รอด

5. ปริมาณเงินที่น้อยเกินไป ทำให้ (ก) เงินเฟ้อต่ำเกินไป​ ทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตต่ำ จึงทำให้การจ้างงานลดลง และ (ข) ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน คือค่าเงินบาทแข็งเกินไป​ด้วย ทั้ง 2 นโยบาย จึงทำให้ทั้งการลงทุนเอกชนและการส่งออกต่ำ​ แล้วจึงทำให้อัตราการเติบโต GDP​ ต่ำ​ลงไปด้วย ความจริงประเทศพัฒนาช้า อย่างเช่น ประเทศไทยควรมีเป้าเหมายอัตราเงินเฟ้อ 2-4% (ไม่ใช่​ 1-3% ที่กำหนดในปัจจุบัน) เพื่อผลิตขายแล้วมีกำไร ส่งเสริมให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้เพิ่มการจ้างงาน และเพิ่มความต้องการและอำนาจซื้อ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช

6. ปัจจุบันนี้ แบงค์ชาติ​ใช้อยู่เครื่องมือเดียว​ คือกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ​(Inflation​ targeting) แต่กดเป้าหมายเงินเฟ้อให้ต่ำเกินไป​ ด้วยการบีบปริมาณ​เงินบาทในระบบเศษฐกิจให้มีน้อยกว่าที่ควร​จะเป็น

7. แบงค์ชาติ​ควรใช้ Inflation​ targeting โดยมีเป้าหมายที่ดีกว่านี้​ คือทำให้มีการลงทุนเอกชนสูงกว่านี้​ นอกจากนี้​ แบงค์ชาติ​ยังต้องกำหนดเครื่อง​มือ “การกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange​ rate ​targeting​)” ให้การส่งออกแข่งขันได้ดีกว่านี้​ รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยว​ ได้เป็นเงินบาทมากกว่านี้​ ขณะนี้ระบบเศรษฐกิจไทย​ ยังไม่ได้ใช้เครื่องมือ Exchange​ rate ​targeting​ นี้

8. ความจริง​ เครื่องมือที่กำหนดอัตราความเจริญเติบโตของ​ GDP​ เป็นส่วนใหญ่ คือนโยบายอัตราดอกเบี้ย​ และนโยบายอัตรา​แลกเปลี่ยน​ เมื่อกำหนดไม่ถูกต้องเหมาะสม​ GDP​ growth ​จึงต่ำ​ ภาษีจึงต่ำ​ไปด้วย งบประมาณประจำปีของรัฐบาล​จึงมีน้อย​ รายจ่ายรัฐบาลจึงเป็นเพียงการ​กระจายเงินของรัฐ​ ที่มีจำกัดมากๆ ว่า ​ใครจะได้อะไรเมื่อไหร่ ไม่มีเงินเพียงพอต่อการลงทุนของรัฐ เพื่อสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ​ ให้เจริญเติบโตในอัตราสูงๆ ได้ในระยะยาว.