การเมืองสุญญากาศหลังเลือกตั้ง 4 เดือนผ่านมา ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ เกิดจากการเล่นเกมแรงสกัด เริ่มจาก คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตอันดับหนึ่งออกนอกสังเวียน ส่อเค้าตามด้วยเตรียมสกัด คุณเศรษฐา ทวีสิน
ถึงวันนี้ยังไม่รู้ทิศทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบพิเศษให้ “ส.ว.” มีบทบาทกำหนดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี
การเลือกตั้งที่ผ่านมาสองพรรคใหญ่ได้คะแนนสูสี หลังจากพรรคเพื่อไทยรับลูกเป็นแกนนำจับมือ พรรคภูมิใจไทย และ พรรคเล็กพรรคย่อยรวมกันได้ 238 เสียง อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการเจรจาต่อรองกับ พรรคสองลุงให้โหวตรับก่อนตั้งรัฐบาลแล้วค่อยเจรจากัน โดยอ้างเพื่อขจัดความขัดแย้งสลายขั้วการเมืองที่ติดล็อค ซึ่งอาจขัดตาเอฟซีและประชาชน
ทางเลือกของพรรคเพื่อไทยหากต้องการเป็นรัฐบาล อาจไม่มีทางเลือกเพราะหากไม่เลือกขั้วเก่าจำนวน “ส.ส.” ที่มีอยู่ไม่พอทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ
การตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยอาจไม่ง่าย เนื่องจากต้องเผชิญด่าน “ส.ว.” ที่ผ่านมามีความเป็นเอกภาพอย่างผิดปกติวิสัยในการเอา และ/หรือไม่เอานายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่มีที่มาแตกต่างกัน แต่ละท่านมีวุฒิภาวะสูง ทำให้มีความกังขาเหมือนกับว่า มีมือที่มองไม่เห็นเป็นผู้ชี้ทิศทาง
ผลคือทำให้ “การเมืองเข้าสู่สภาวะติดหล่ม” เกิดสุญญากาศการบริหารบ้านเมือง ถึงแม้นจะมีรัฐบาลรักษาการ แต่งบประมาณแผ่นดินใหม่มูลค่า 3.35 ล้านล้านบาท เนื้อในมีงบลงทุนของรัฐมูลค่า 7.0 แสนล้านบาท ยังต้องรอรัฐบาลใหม่มาผลักดันเข้าสู่สภา ส่งผลให้งบประมาณล่าช้าออกไปอาจใช้ได้ไตรมาส 2 ปีหน้า
ขณะที่ “งบกลาง” เดือนที่ผ่านมาเหลืออยู่แค่สามหมื่นล้านบาท ความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาล นอกจากปัญหาด้านงบประมาณ ยังส่งผลให้การทำงานของข้าราชการเข้าสู่โหมดเกียร์ว่าง เพราะรอนายใหม่ว่าจะสั่งการอย่างไร แถมเป็นช่วงโยกย้ายและเกษียณ ทำให้ตำแหน่งที่สำคัญรอการแต่งตั้งใหม่
ฉากทัศน์เศรษฐกิจขณะนี้ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะซึม หากยังมีการเล่นเกม หรือ มีการร้องเรียนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จากหน้าเดิมๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังรับลูก อาจส่งผลทำให้การเมืองติดล็อค
ยังไม่รวมหากการเมืองของกลุ่มเห็นต่างลงข้างถนน และเกิดความรุนแรงเป็นความขัดแย้งบานปลาย กลายเป็นว่า การเมืองติดหล่มส่งผลทำให้เศรษฐกิจติดกับดัก ซึ่งภาคเอกชนมีความกังวล
ภาวะของภาคธุรกิจที่กำลังประสบอยู่ คือ การส่งออกเกี่ยวข้องกับการจ้างงานมากกว่าครึ่งของกำลังแรงงานทั้งประเทศ การส่งออกเดือนมิถุนายนหดตัวถึงร้อยละ -6.39 คาดว่าทั้งปีส่งออกอาจหดตัวร้อยละ -2 ถึง -3
อุตสาหกรรมส่งออกเกินกว่าครึ่งอยู่ในสภาวะหดตัว กระทบเป็นลูกระนาดไปถึงซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการผลิต บริการ และ เกษตรกรรม
ผู้เขียนซึ่งสถานภาพอยู่ในโซ่อุปทานส่งออก ได้มีการสำรวจภูมิทัศน์ของผู้ส่งออกและนำเข้าเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและใหญ่ จำนวน 135 กิจการ พบว่า ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มมีการลดคนมีการให้พนักงาน/คนงานลาออกแบบสมัครใจโดยเฉพาะผู้ที่อายุ 45-50 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มเป้าหมาย
หากคนออก หรือ เกษียณจากงาน จะไม่มีการรับใหม่โดยการกระจายงานไปให้คนที่เหลือทำ บริษัทขนาดใหญ่โอนงานบางส่วน เช่น งานธุรการ หรืองานบัญชี ไปให้สำนักงานในสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม
ยอดขายที่ลดลงทำให้สต็อคสินค้าสูง กว่าจะเริ่มมีการระบายออกในเดือนกันยายน การแข่งขันด้านราคาทั้งในประเทศและต่างประเทศรุนแรงโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรับจ้างประเภท “OEM” ออเดอร์ หรือ คำสั่งซื้อลดลงมาก และมีการถูกกดราคา
ขณะที่ตลาดภายในธุรกิจที่อยู่โซ่อุปทานกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และงานที่เกี่ยวกับการประมูลรัฐอยู่ในสภาวะชะลอตัว กระทบต่อซัพพลายเชน ทั้งการผลิต และธุรกิจบริการ บางรายถึงต้องปิดกิจการ
การตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าและมีความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ต่างชาติอยู่ในสภาวะ “Wait & See” ขณะที่การลงทุนใหม่ซบเซา ธุรกิจที่ไปได้ดีในขณะนี้คือ กลุ่มประเภทอาหารมีแนวโน้มเติบโตแต่ยอดขายยังลดต่ำกว่าปีที่ผ่านมา
ภาวะเช่นนี้เป็นนัยว่า เศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี อาจอยู่ในสภาวะเข้าสู่โหมดจำศีล สะท้อนจากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเดือนมิถุนายน หดตัวมากเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ -14.54 รวมถึงการนำเข้าเครื่องจักรก็อยู่ในภาวะติดลบ เป็นสัญญานอันตรายแสดงว่า กำลังการผลิตและการจ้างงานอาจชะลอตัว
ปัญหาของภาคธุรกิจที่เป็นอยู่ขณะนี้คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่ภาคท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคส่วนเดียวที่ปัจจุบันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจมีความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้อ
ขณะที่การเมืองยังไม่เห็นทางเดินที่ชัดเจน อาจมีผลต่องบประมาณอัดฉีดท่องเที่ยว มีผลกระทบต่อการกระตุ้นการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไฮท์ซีซั่น
ด้านกำลังซื้อในประเทศที่ค่อนข้างแผ่วยกเว้นช่วงเทศกาลวันหยุดยาวทำให้สถานประกอบการส่วนใหญ่ยอดขายลดลงประมาณร้อยละ 10-12
ปัจจัยแทรกที่เป็นปัจจัยภายนอกเกี่ยวข้องกับราคาพลังงานของตลาดโลกในช่วงนี้ปรับตัวค่อนข้างสูง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์ค (WTI) ช่วง 30 วันที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 9.97 USD/บาร์เรล สูงขึ้นร้อยละ 13.59 ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 95 (9 ส.ค.) ปรับขึ้นถึงลิตรละ 3.3 บาท
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ (9 ม.ค./11 ส.ค.) อ่อนค่า 1.585 บาท/เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 4.72 เป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 7 เดือนเศษ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ประเทศไทยยังโชคดีกว่าหลายประเทศที่อัตราเงินเฟ้อไม่สูงเดือนกรกฎาคม เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.38 ต่ำสุดในอาเซียนช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.19
ฉากทัศน์ที่เป็นอยู่ที่รอรัฐบาลเข้ามาแก้ คือ สภาพคล่องระดับชาวบ้านและมนุษย์เงินเดือน คือ รายจ่ายไม่พอเพียงกับรายรับ ก็ต้องไปกู้หนี้ทั้งในและนอกระบบ ด้านธุรกิจการค้าขายไม่ดีก็ต้องไปกู้ยืมส่งผลทำให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง
และยังต้องเผชิญกับสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 2.25 กระทบต่อดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 6.8 หากเป็นเงินกู้ประเภทเบิกเงินเกินบัญชี (O/D) ดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 7.325 อัตราดอกเบี้ยจะมากจะน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นลูกหนี้แบงก์ระดับใด
หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญ เป็นกับดักต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ตัวเลขล่าสุดสูงถึง 17.62 ล้านล้านบาท เฉพาะมูลหนี้สถาบันการเงินและสหกรณ์มีจำนวน 12.834 ล้านล้านบาท และหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อีกประมาณ 4.83 แสนล้านบาท
สถานะปัจจุบัน (ไตรมาส 2/2566) เป็นหนี้เสียและหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 1.03 ล้านล้านบาทและยังมีหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วันอีกประมาณ 4.8 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ไฟแนนซ์รถยนต์ร้อยละ 43 หนี้ผ่อนบ้านร้อยละ 27 หนี้ส่วนบุคคลร้อยละ 18 และหนี้เครดิตการ์ดร้อยละ 2 เห็นตัวเลขนี้แล้วน่าตกใจเพียงใด
การเมืองที่ติดหล่มเป็นผลจากความต้องการสืบอำนาจ แม้แต่พรรคการเมืองสองพรรคได้เสียงรวมกันร้อยละ 75 ของผู้มาเลือกตั้งจับมือกันยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้
คงต้องติดตามหลังวันที่ 16 สิงหาคม รอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการโหวตเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำ สามารถทำได้หรือไม่ได้ หรือจะต้องเลื่อนโหวตนายกฯ ยืดออกไปอีก ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะ “ออกหัวหรือออกก้อย”
แม้แต่ธนาคารโลกหรือ World Bank มีความกังวลทางตันการเมืองไทย อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สอดคล้องกับภาคเอกชนตั้งแต่องค์กรเกี่ยวข้องกับการผลิต การค้า บริการ และ ส่งออก ตลอดจนนักวิชาการสอดประสานเสียงเดียวกัน หากตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปจะซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงไปอีก
การที่ประชาชนและภาคเอกชนส่งสัญญานขอให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลและสรรหาทีมเศรษฐกิจ ที่มีแบรนด์ มีประสบการณ์ และรู้ปัญหาจริงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยเร็ว เนื่องจากมีหลายปัจจัยรอการแก้ไขทั้งด้านผลักดันกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาส่งออก
รวมถึงแก้ปัญหาหนี้-สภาพคล่องให้กับธุรกิจและชาวบ้าน ตลอดจนใส่เม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อฟื้นกำลังซื้อ ที่สำคัญต้องเตรียมมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า
หากยังเล่นเกมการเมืองโยนลูกกันไปมา เอาเศรษฐกิจ และประเทศชาติเป็นเดิมพัน สุดท้ายผู้รับกรรม คือ คนไทยทั้งประเทศ