ถึงแม้ว่านโยบายทางการเงินของไทยจะถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นอิสระต่อองค์กรต่างๆ รวมทั้งทางการเมือง แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่คาดว่าจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีหลายนโยบายที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยในอนาคต รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทาง กนง. นำมาพิจารณาในการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย
“ถ้าพิจารณาถึงนโยบายประชานิยมที่หลายพรรคการเมืองใช้หาเสียง อาทิเช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การลดอัตราค่าไฟ และราคาพลังงาน ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งในเชิงบวกและลบทั้งสิ้น ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต”
หากพูดถึงนโยบายที่มีการถกเถียงกันอย่างมากถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นคือ การพิจารณาประเด็นการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทย ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี และมีการขึ้นค่าแรงตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักสิบ โดยมีการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดสูงสุดในยุคของรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่ขึ้นจาก 215 บาท ต่อวัน ไปเป็น 300 บาทต่อวัน โดย ณ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำจะเฉลี่ยอยู่ที่ 328 – 354 บาทต่อวัน แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค
หากการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน ซึ่งจะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นถึง 27-37% ก็คาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น 0.82% ตามตัวเลขคาดการณ์ที่ประเมินโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยถ้านำตัวเลขดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นไปบนคาดการณ์เงินเฟ้อของไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2566 ที่ระดับ 2.5% และ ปี 2567 ที่ระดับ 2.4% ก็อาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อของไทยทะลุกรอบบนของเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ทาง ธปท. คาดไว้ที่ 3% ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยอื่นซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาร่วมด้วย เช่น
ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อด้านสูง ในขณะที่บางนโยบาย ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในทิศทางตรงกันข้าม อาทิเช่น การลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ FT ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ใช้หาเสียง เนื่องจากมาตรการปรับลดค่า FT ลง 70 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย ระหว่าง พ.ค.-ส.ค. 66 ใกล้จะหมดลงนั้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าและบริการที่สูงขึ้น
ดังนั้น นโยบายในการปรับลดค่าไฟจึงถือเป็นส่วนที่สำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอนาคต ถ้าสามารถลดค่าไฟได้อย่างต่อเนื่องก็จะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นได้จากต้นทุนที่สูงขึ้น
นอกเหนือจากปัจจัยด้านเงินเฟ้อ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องนำมาร่วมพิจารณา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดย ธปท. คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 29 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบริโภคในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของไทยยังมีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่ง ธปท. ได้ออกมาคาดการณ์ตัวเลขส่งออกว่าจะหดตัว 0.10% ในปีนี้ โดยเฉพาะผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรปซึ่งเผชิญแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวหลังโควิดต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในเรื่องการเมืองภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ทาง ธปท. ต้องพิจารณาร่วมด้วย
เพราะฉะนั้น โดยภาพรวมของสภาวการณ์ปัจจุบัน ยังมีทั้งปัจจัยที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนให้ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2566 กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนมาอยู่ที่ระดับ 2.0% โดยหลังจากขึ้นดอกเบี้ยในเดือน พ.ค. 66 ที่ผ่านมา กนง. ยังคงมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อด้านสูง และแม้ว่า ความกังวลดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งที่แล้วก็ตาม
นอกจากนั้น กนง. ยังคงมีความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว โดยปัจจัยหลังนี้อาจจะทำให้ กนง. พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 0.25-0.50%
ทั้งนี้ หากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองราบรื่น การผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปได้ด้วยดีและสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าคาด จะทำให้เกิดการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และนำไปสู่การเร่งขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และจะกระทบต่อการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ โดยปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มสนับสนุนให้ดอกเบี้ยนโยบายสามารถปรับเพิ่มสูงขึ้นได้อีกหรือทรงตัวอยู่ระดับสูงเป็นเวลานาน
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,913 วันที่ 13 - 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566