นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกลดต่ำลงมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องชะลอลงอย่างมาก ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายภูมิภาค และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว อีกทั้ง จีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกฟื้นตัวช้าลงจากกำลังซื้อในประเทศที่หดตัวจากการขาดความเชื่อมั่นทางธุรกิจ อย่างไรก็ดี
จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านอาหารของโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอาหารเติบโตได้ดี โดยเฉพาะข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และสุกรสด แช่เย็น แช่แข็ง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมของไทยมีสัญญาณที่ดีจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยางรถยนต์ และเครื่องจักรกล
ส่งผลให้การส่งออกเดือนก.ค.2566 มีมูลค่า 22,143.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.2% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 764,444 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 24,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 11.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 842,842.7 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,977.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 78,398.7 ล้านบาท
รวมการส่งออก 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 163,313.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 5.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,554,796.3 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 4.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,910,357.1 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 8,285.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 355,560.8 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 9.6% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร ลด 7.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 11.8% โดยสินค้าที่หดตัว เช่น ยางพารา ลด 37.8% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลด 12.9% น้ำตาลทราย ลด 30.3% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 7.7% ไก่แปรรูป ลด 11.4% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ลด 62.8% ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว เพิ่ม 18.8% สิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม 17.8% ผักกระป๋องและผักแปรรูป เพิ่ม 17.2% นมและผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 27.9% ไข่ไก่สด เพิ่ม 92.9%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลด 3.4% สินค้าสำคัญที่ลด เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 28.8% เครื่องคอมพิวเตอร์ อปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 24.2% ผลิตภัณฑ์ยาง ลด 6.2% ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ลด 24% ส่วนสินค้าที่เพิ่ม เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เพิ่ม 24.6% เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 40.5% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เพิ่ม 82.9% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 29.4% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 10.8% ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เพิ่ม 15.9%
ทางด้านการส่งออกไปตลาดสำคัญ ตลาดหลัก ลด 9.6% จากการลดลงของตลาดจีน 3.2% ญี่ปุ่น 1.7% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 18.3% CLMV ลด 26.5% และสหภาพยุโรป ลด 6.6% แต่สหรัฐ เพิ่ม 0.9% ตลาดรอง เพิ่ม 0.8% โดยทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 2.4๔ ตะวันออกกลาง เพิ่ม 8.2% แอฟริกา เพิ่ม 3.1% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 14.8% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 39.2% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 5.8% แต่เอเชียใต้ ลด 5.6% ส่วนตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 66.8% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 64.9%
“การส่งออกเดือนก.ค. ติดลบ 6.2% ส่วนหนึ่งเพราะฐานปีก่อนสูง แต่หากดูมูลค่า ก็ไม่ถือว่าแย่ เมื่อเทียบยอดเฉลี่ยการส่งออกของเดือน ก.ค. ตั้งแต่ปี 2561-65 ที่เฉลี่ย 21,333 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ไทยดีกว่าหมด อย่างอินโดนีเซีย ติดลบ 18% เกาหลีใต้ ลบ 16.4% อินเดีย ลบ 15.9% มาเลเซีย ลบ 15.8% สิงคโปร์ ลบ 14.6% จีน ลบ 14.5% ไต้หวัน ลบ 10.4%”
ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเดินหน้าผลักดันการส่งออกอย่างเต็มที่ เพื่อให้ถึงเป้าทำงาน 1-2% โดยถ้าจะไม่ให้การส่งออกติดลบ เดือนที่เหลือต้องส่งออกเฉลี่ย 24,800 ล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัว 0% แต่ถ้าเพิ่มเป็นเฉลี่ยเดือนละ 25,100 ล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัว 0.5% ถามว่ายากหรือไม่ ก็ต้องพยายาม
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไตรมาสที่ 4 ยังมีตัวแปรเยอะมาก แต่มองว่าเป็นบวกแน่ ส่วนยอดรวมทั้งปี เดิมสภาฯ คาดว่าจะติดลบ 0.5% แต่หากประเมินตอนนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะลบมากกว่านี้ ถ้าเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว เศรษฐกิจคู่ค้าไม่เป็นใจ มีโอกาสที่จะติดลบ 1% ส่วนจะพลิกกลับมาเป็นบวก เป็นไปได้น้อย
ทั้งนี้การส่งออกเดือน ก.ค.2566 ที่ลดลง 6.2% เป็นการส่งออกติดลบต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ที่ลดลง 4.2% พ.ย.2565 ลด 5.6% ธ.ค.2565 ลด 14.3% ม.ค.2566 ลด 4.6% ก.พ.2566 ลด 4.8% มี.ค.ลด 4.2% เม.ย.2566 ลด 7.7% พ.ค.ลด 4.6% มิ.ย. ลด 6.5%