นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2566 ว่า จากข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau : NCB) พบปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงานตอนต้น อายุต่ำกว่า 30 ปี ชี้ว่ามีพฤติกรรมการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น
เช่นเดียวกับข้อมูลการศึกษาพฤติกรรมการเงินของศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี ปี 2562 พบว่า คนเจนวาย อายุระหว่าง 23 - 38 ปี ส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับทัศนคติว่า “ของมันต้องมี” ซึ่ง 50% ของคนเจนวายที่มีเงินไม่เพียงพอ จึงเลือกที่จะกู้ยืมจากธนาคารหรือใช้บัตรเครดิตในการจ่าย โดย 70% มีการผ่อนชำระสินค้า/บริการแบบเสียดอกเบี้ย
สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการก่อหนี้ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะการผ่อนชำระสินค้าแบบเสียดอกเบี้ยในหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ทำให้มีแนวโน้มจะมีการสะสมของหนี้สินมากขึ้น และติดกับดักหนี้
หนี้เสียผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นสูง
ขณะที่ กลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า การขยายตัวของหนี้เสียระหว่างปี 2563 - 2565 เพิ่มมากขึ้นกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉลี่ยที่ 10.2% ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียในสินเชื่อส่วนบุคคลและรถยนต์ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากผู้สูงอายุมีทักษะทางการเงินต่ำ ซึ่งการสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2563 ของ ธปท. ที่พบว่า กลุ่ม Baby boomer (อายุ 55 ปีขึ้นไป) เป็นกลุ่มที่มีระดับทักษะทางการเงินน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับคนวัยอื่น โดยกว่า 55.3% มีความรู้ทางการเงินต่ำ
นอกจากนี้ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบว่า ในปี 2565 คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องลดลงจากปี 2563 ซึ่งการที่ผู้สูงอายุมีหนี้เสียมากขึ้นโอกาสแก้หนี้ จะทำได้ยากกว่ากลุ่มอายุอื่น เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่หารายได้ได้ลดลง
ทั้งนี้ ความแตกต่างของประเภทการเป็นหนี้และช่วงวัยที่เป็นหนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ที่แตกต่างกัน สำหรับกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี อาจสามารถเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระออกไปได้ ขณะที่กลุ่มสูงอายุจำเป็นต้องใช้มาตรการอื่น
หนี้จำนวนมากยังไม่อยู่ในระบบข้อมูล NCB
ทั้งนี้ สศช. ยังภาพสะท้อนปัญหาหนี้สินครัวเรือนจากข้อมูล NCB พบประเด็นที่อาจส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน และกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ปัจจุบันยังมีหนี้จำนวนมากที่ไม่เข้าสู่ระบบข้อมูล NCB ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถตรวจสอบสถานะหนี้สินและรายได้สุทธิหลังหักภาระหนี้ของลูกหนี้ได้ แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจากฐานข้อมูล NCB จะคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 81% ของหนี้ครัวเรือนที่นำเสนอโดย ธปท. และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากในอดีต
โดยปัจจุบันสมาชิกที่จัดส่งข้อมูลเครดิตให้แก่ NBC มีจำนวน 90 ราย ทั้ง ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ทุกแห่ง บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ นิติบุคคลที่ให้บริการบัตรเครดิต และสถาบันการเงินอื่น ๆ
แต่ยังไม่รวมหนี้สหกรณ์ ซึ่งมีมูลค่าเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกกว่า 1.1 ล้านล้านบาท และหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาท ดังนั้นการที่ผู้ให้สินเชื่อบางรายไม่ได้เป็นสมาชิกของ NCB อาจนำไปสู่การกู้ยืมเกินศักยภาพในการชำระคืนของลูกหนี้
จับตาหนี้เสียที่ไม่ใช่แบงก์พาณิชย์
ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้เสียต้องให้ความสำคัญกับหนี้เสียที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งหากพิจารณามูลค่าหนี้เสียของ ธปท. ซึ่งเป็นหนี้เสียที่เกิดจากธนาคารพาณิชย์เท่านั้น เทียบกับมูลค่าหนี้เสียในฐานข้อมูล NCB ซึ่งรวมหนี้เสียที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่ออื่น ๆ ด้วย จะพบว่า มูลค่าหนี้เสียรวมและสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม มีความแตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก
โดยในปี 2565 มูลค่าหนี้เสียที่ ธปท. นำเสนออยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ขณะที่ของ NCB มีมูลค่ามากกว่าที่ 9.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมที่ 2.6% และ 7.6% ตามลำดับ ซึ่งการที่สัดส่วน NPL ของสินเชื่อรวมจากข้อมูล NCB สูงกว่าของ ธปท. สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วมูลค่าหนี้เสียที่สูงนั้นเกิดกับผู้ให้สินเชื่ออื่น ๆ ซึ่งบางส่วนอาจยังไม่มีการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด และเป็นธรรม
เกาะติดหนี้ครัวเรือนอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังพบว่า หนี้ครัวเรือนอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ อาจเป็นหนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แม้ว่าข้อมูล NCB จะไม่จำแนกหนี้อื่น ๆ ออกเป็นรายประเภทอย่างชัดเจน แต่หนี้ประเภทนี้ครอบคลุมสินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 18.8% ในปี 2565
ขณะเดียวกันหนี้ดังกล่าวยังมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมสูงเป็นอันดับ 2 โดยมีลูกหนี้ที่เป็น NPL รวมเกือบ 2 ล้านราย ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่ง อาจเกิดจากการไม่มีหน่วยงานก ากับดูแล อาทิ หนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ที่ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกรรมเช่าซื้อเป็นการเฉพาะ ทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากจากปัญหา เช่น การทวงหนี้และการยึดรถที่ไม่เป็นธรรม หรือการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูง เป็นต้น
อีกทั้ง หนี้เกษตรกรยังรวมอยู่ในหนี้ประเภทนี้ด้วยซึ่งเป็นหนี้ที่มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องโดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีสัดส่วนหนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก การศึกษาของ ธปท. ระบุสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรมีหนี้สูงและหนี้นาน เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอน ขาดความรู้ทางการเงิน รวมทั้งนโยบายของรัฐโดยเฉพาะนโยบายพักชำระหนี้ ซึ่งทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมีอัตราการสะสมหนี้สูง ซึ่งส่งผลให้หนี้มีการส่งต่อไปยังบุตรหลานในครัวเรือนเกษตรกร
อย่างไรก็ดี สศช. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยอาจมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCB เพื่อให้ผู้ให้สินเชื่อมีข้อมูลสำหรับการพิจารณาให้สินเชื่ออย่างครบถ้วน
2.ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด
3.หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง
4.ส่งเสริมการปลูกฝังความรู้ทางการเงิน (Financial literacy) และวินัยทางการเงินต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย
5.ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน