การแก้ไขปัญหา “หนี้สินครัวเรือน” ของรัฐบาล นับแต่พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ตามนโยบายรัฐบาล ที่ขับเคลื่อนโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีดังนี้
ฝึกอบรมผู้ไกล่เกลี่ย 2,708 คน ขึ้นทะเบียนผู้ไกล่เกลี่ย 4,656 คน เปิดหน่วยบริการไกล่เกลี่ย 1,963 แห่ง (หน่วยงานของรัฐ 82 แห่ง และศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน 1,881 แห่ง)
ดำเนินการไกล่เกลี่ยสำเร็จ แบ่งเป็น ข้อพิพาททางแพ่ง 53,030 เรื่อง ลดค่าใช้จ่ายประชาชน 6,887,960,640 บาท ข้อพิพาททางอาญา 353 เรื่อง ลดต้นทุนภาครัฐ 27,044,036 บาท
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมมือกับกรมบังคับคดีสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และสถาบันการเงินจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน และยุติธรรมพบประชาชน ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ
โดยดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องให้แก่ประชาชนที่เป็นหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หนี้สินข้าราชการ หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล จำนวน 45,958 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 44,735 เรื่อง ทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ย 6,465 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายประชาชน 5,810 ล้านบาท
นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาผ่านการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนให้ครอบคลุมระดับตำบล ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้นำกระบวนการไกล่เกลี่ยมาใช้ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เพิ่มทุนทรัพย์ทางแพ่งและความผิดทางอาญาให้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้มากขึ้น รวมถึงจัดตั้งหน่วยงานระดับกรมรองรับภารกิจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีและหลังศาลพิพากษา
โดยขอเชิญชวนประชาชนที่มีคดีพิพาทก่อนฟ้อง และหลังศาลมีคำพิพากษา ร่วมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ตอบโจทย์การแก้ไขหนี้สิน หนี้ กยศ. หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ ร่วมกันหาทางออก ฝ่าวิกฤติ สร้างโอกาส ก้าวไปด้วยกัน โดยส่วนกลาง จัดขึ้นทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของทุกเดือน ณ อาคารกระทรวงยุติธรรม (แห่งใหม่) ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่
ก่อนหน้านี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานภาระหนี้ครัวเรือนคนไทย ในปี 2566 พบว่ามีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 15 ปี โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 559,408 บาท ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 11.5 % จากปี 2565 ที่มีหนี้รวม 501,711 บาทต่อครัวเรือน
ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น มากถึง 16.8 % รวมทั้งมีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 16.2 % เช่น รถยนต์ บ้าน มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 13.8% และ กลุ่มตัวอย่างถึง 60 % ไม่มีการออมเงิน
นอกจากนี้ในผลการสำรวจ ยังพบอีกว่า กลุ่มคน GEN Y และ GEN Z ถึง 76 % ยอมรับว่าใช้เงินแบบไม่วางแผน 60.5% มีการใช้จ่ายเงินเกินตัว และ 47.2 % กู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตเป็นหลัก