นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2566 ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 การเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความผันผวนในตลาดการเงินโลกและภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ และได้มอบให้ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหารือเพื่อจัดทำความร่วมมือในสาขาที่อาเซียนและอียูมีความสนใจร่วมกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและอียูให้แน่นแฟ้นขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามผลการดำเนินการภายใต้แผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-อียู ปี 2565-2566 (ค.ศ. 2022-2023) และให้การรับรองแผนงานฯ ปี 2567-2568 (ค.ศ. 2024-2025) เพื่อกระชับการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างสองภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการผลักดันความร่วมมือ 3 สาขา ภายใต้คณะทำงานร่วมด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-อียู
ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งได้หารือเรื่องการสนับสนุนของอียูต่ออาเซียนผ่านโครงการต่างๆ
เช่น โครงการความเชื่อมโยงที่ยั่งยืนระหว่างอียู-อาเซียน เพื่อส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน และโครงการการริเริ่มสีเขียวอียู-อาเซียน เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนและผลักดันการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสภาพภูมิกาศ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 3 ได้หารือและรับทราบความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหราชอาณาจักร ในช่วงปี 2565-2566 เช่น การเผยแพร่คู่มือการบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการยอมรับมาตรฐานสากลของอาเซียน การประชุมโต๊ะกลมความรู้ทางการเงิน และการจัดสัปดาห์เทคโนโลยี เป็นต้น โดยที่ประชุมเห็นควรต่อยอดกิจกรรมความร่วมมือเหล่านี้ ภายใต้แผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-สหราชอาณาจักร ปี 2667-2568 รวมทั้งเห็นชอบให้เพิ่มกิจกรรมความร่วมมือ 4 สาขา ได้แก่ นวัตกรรมดิจิทัล การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) บริการทางการเงิน ทักษะและการศึกษาในแผนใหม่ด้วย เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในเรื่องดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน การสร้างแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อพัฒนา MSMEs การสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืนและการลงทุนสีเขียว และโครงการฝึกอบรมผู้สอนเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น
ส่วนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 12 ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายระดับภูมิภาคและระดับโลก อาทิ ผลกระทบต่อเนื่องจากโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความผันผวนที่เพิ่มขึ้นในตลาดการเงินโลก ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และการค้า ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานทั่วโลก ซึ่งทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมมือกันในประเด็นสำคัญ อาทิ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความท้าทายดังกล่าว
นอกจากนี้ ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-รัสเซีย ปี 2564-2568 ในสาขาการค้า การเกษตร การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ
เช่น การจัดประชุมโต๊ะกลมเรื่องความร่วมมือทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน-รัสเซีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 รวมทั้งได้หารือกับผู้แทนสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และรับทราบความคืบหน้าการจัดกิจกรรมตามแผนงานความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EEC) ระหว่างปี 2563-2568 เช่น การจัดสัมมนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลใน EEC และอาเซียน การสนับสนุนให้อาเซียนและ EEC ยกระดับความร่วมมือในสาขาที่เป็นความสนใจของทั้งสองฝ่าย เช่น การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล พลังงาน และเกษตรกรรม เป็นต้น