นายโจเซพ บอเรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของ สหภาพยุโรป (อียู) และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกแถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก European Union in Thailand วานนี้ (24 ส.ค.) แสดงความยินดีกับ นายเศรษฐา ทวีสิน ในโอกาสที่ได้เป็น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566
โดยนายบอเรลล์ระบุว่า สหภาพยุโรปตั้งตารอที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยในการผลักดันระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย เสถียรภาพในระดับภูมิภาค การพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ความเจริญรุ่งเรือง และการค้าที่เสรีและเป็นธรรม
“ข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย ซึ่งลงนามไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 คือโอกาสในการกระชับความร่วมมือของเราในทุกด้านที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน สหภาพยุโรปตั้งตารอที่จะดำเนินการในขั้นตอนต้นตามข้อตกลงนี้ภายใต้รัฐบาลใหม่ของไทย”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู สมัยพิเศษ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก ร่วมกับฝ่ายอียู ได้แก่ นายปีเตอร์ เฟียลา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็กในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และนายโจเซพ บอร์เรล รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป และนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ร่วมเป็นสักขีพยาน
การลงนามร่างกรอบความตกลงฯดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-อียูนับตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งเป็นปีที่อียูได้จัดตั้งคณะผู้แทนที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือไทย-อียู ที่แน่นแฟ้นและลงลึกมากขึ้นในทุกประเด็น
กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับอียู ซึ่งครอบคลุมประเด็นความร่วมมือทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกระดับทั้งทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี จะเป็นแผนงานสำหรับการเดินหน้าความร่วมมือระหว่างไทยกับอียู ให้ชัดเจนและมีแบบแผนมากขึ้น โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการที่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ของอียู ผ่านกรอบการหารือในด้านต่าง ๆ ตลอดจนผ่านการเข้าร่วมการสัมมนา ฝึกอบรม และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ และยกระดับมาตรฐานของไทยให้ทัดเทียมสากล โดยความร่วมมือด้านมาตรฐานเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเปิดการเจรจา FTA รอบใหม่กับอียูต่อไปด้วย
ในขณะเดียวกัน ไทยก็จะสามารถนำเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ความเชี่ยวชาญและแนวคิดด้านต่าง ๆ ของไทย อาทิ ด้านสาธารณสุข (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) และแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาที่สมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน ผ่านการดำเนินการหารือและความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงฯ กับฝ่ายอียูได้ด้วย