วันนี้ (6 กันยายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ว่า แม้เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ก็ต้องใช้เวลาไม่น่าจะเกิน 2 ปี เพราะต้องรอให้ระบบตั๋วร่วมโดยสารของรถไฟฟ้าเสร็จสิ้นก่อน
นายสุริยะ ยอมรับว่า การดำเนินการอาจต้องใช้เวลาเจรจา เนื่องจากมีหลายหน่วยงาน และรถไฟฟ้ามีหลายสี แต่ละสีมีระยะสัมปทานที่แตกต่างกัน ขั้นตอนการเจรจาต้องใช้เวลา และเมื่อมีระบบที่จะคิดราคา 20 บาทตลอดสายแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในระบบตั๋วร่วม
อย่างไรก็ดีในกรณีนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีอยู่แล้ว แต่ทางรถไฟฟ้า บีทีเอส ไม่มี จึงต้องเจรจากับบีทีเอสให้ติดตั้งระบบนี้ ต้องใช้งบประมาณพันล้านบาท ดังนั้นจึงต้องเจรจาให้ช่วยติดตั้งให้
“แต่ถึงมีเงินก็ใช่จะติดตั้งได้เลยต้องใช้เวลา หากรัฐบาลเพื่อไทยทำนโยบายนี้จะทำให้รายได้ของรถไฟฟ้าและผู้ประกอบการมีเพิ่มขึ้น และก็ต้องเจรจา เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น จะให้อะไรคืนกับรัฐ ยืนยันนโยบายนี้มีแน่นอน” นายสุริยะ กล่าว
ส่วน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จำเป็นต้องมีในคำแถลงนโยบายรัฐบาลหรือไม่นั้น นายสุริยะ ระบุว่า คำแถลงนโยบายจะพูดถึงระบบโลจิสติกส์ทำเพื่อประชาชน นโยบายนี้ก็มีส่วนอยู่ในนั้น เพราะเรามีความตั้งใจที่จะทำ แต่คงไม่ได้ไปเขียนนโยบายรถไฟฟ้า20บาท เพราะเป็นส่วนย่อยของนโยบายใหญ่ และมั่นใจว่า จะไม่ถูกมองว่าไม่ทำตามสัญญาเพราะสามารถชี้แจงได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่บรรจุไว้ อาจถูกมองว่าเพื่อไทยบิดพริ้วหรือไม่ รมว.คมนาคม ระบุว่า จากการชี้แจงและคำพูดของตน ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำสัญญา และในระหว่างที่ยังไม่สามารถทำได้ 100% จะปรับลดราคาแบบขั้นบันไดได้หรือไม่ ยอมรับว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง เพราะตั๋วร่วมไม่ใช่จะใช้ได้ทันที
นายสุริยะ กล่าวว่า ในการพิจารณาวงเงินดำเนินนโยบายนี้นั้น ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง ได้ทำการศึกษาและจัดทำตัวเลขเบื้องต้นขึ้นมาแล้ว ขณะเดียวกันก็ให้ไปปรึกษากับนักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ โดยสัปดาห์หน้าจะมานั่งคุยกันเรื่องตัวเลขต่าง ๆ เพื่อหาข้อสรุป