นักวิชาการ ห่วงแจกเงินดิจิทัล ปีหน้าเศรษฐกิจโต แต่ปี 68 เตรียมร่วงแรง

06 ก.ย. 2566 | 23:36 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 10:11 น.

นักวิชาการ TDRI ระบุ นโยบายแจกเงินดิจิทัล อาจช่วยเศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโตได้ดีในปี 2567 แต่ปี 2568 อาจร่วงแรง ย้ำ เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นต้องฉีดสเตียรอยด์

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวกับฐานเศรษฐกิจ ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ที่ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการไว้ว่าจะเติบโตได้ถึง 3.8% เพราะความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งต่ำกว่าเป้า 1% ดังนั้นการออกนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท หวังช่วยกระตุ้นได้ถึง 3% นั้น คือเป็นยาแรงเกินไป ควรเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น

3 ตัวแปรวัดผลนโยบายแจกเงินดิจิทัล

หากอ้างอิงจากงานวิจัยของ สถาบันวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภา (Thai Parliamentary Budget Office : ThaiPBO) ที่วิเคราะห์ไว้ว่า การหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากนโยบายแจกเงินถ้วนหน้าในลักษณะนี้มักจะมีตัวคูณเฉลี่ยที่ 0.96 รอบเท่านั้น มีส่วนรั่วไหลถึง 4% ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ไม่มีทางที่อัดเงินลงไปแล้วจะเกิดการหมุนได้ถึง 3 รอบแน่นอน โดยส่วนตัวมองว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้

  • วิธีการแจกเงินที่ยังไม่แน่ชัด เดิมทีรัฐบาลจะสร้างระบบ Blockchain ขึ้นมาใหม่ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะใช้งบประมาณและระยะเวลาค่อนข้างมาก และยังต้องให้ประชาชน 56 ล้านคน รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ มาลงทะเบียนใหม่ เสียเวลาและอาจทำให้มีประชาชนบางส่วนที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการเพราะความยุ่งยาก ทั้งนี้การที่ล่าสุดมีข่าวว่าจะใช้แอปฯเป๋าตังเช่นเดิม ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี
  • ประชาชนจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะหากแจกเงินดิจิทัลแบบถ้วนหน้า ก็จะมีประชาชนบางส่วนอาจจะไม่ใช้จ่ายในทันที เพราะเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ แม้รัฐบาลจะกำหนดให้ใช้เงินภายใน 6 เดือน รวมถึงเงินจำนวน 1 หมื่นบาทอาจไปทดแทนแผนการใช้จ่ายเดิมของประชาชน ทำให้ไม่ได้นำเงินออกมาใช้มากขึ้นตามที่คาด
  • เงินอาจไหลออกนอกประเทศ เพราะไทยเรามีการนำเข้าสินค้าค่อนข้างมากพอสมควร หรือถ้าผลิตเองก็จะมีรายละเอียดวัตถุดิบบางประการที่อาจจะนำเข้าจากต่างชาติ หากประชาชนใช้จ่ายในสินค้าเหล่านี้ก็จะมีเงินบางส่วนไหลออกนอกประเทศ ดังนั้น รัฐบาลควรกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินให้ชัดเจน

ปี 2567 เศรษฐกิจโตแน่ แต่ปีต่อไปร่วงแรง

นโยบายแจกเงินดิจิทัล ถ้าหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ 1 รอบ ก็จะส่งผลให้เติบโตได้ 3% แบบยังไม่รวมฐานการเติบโตเดิม แต่จากการวิเคราะห์ที่คาดว่าจะไม่สามารถหมุนได้ถึง 1 รอบ ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจจะโตจากมาตรการนี้ได้เพียง 1.5% ส่งผลรวมทำให้เติบโตได้เพียง 4-5% ไม่ร้อนแรงมากจนเกินไป แม้จะไม่มากเท่าที่พรรคเพื่อไทยหวัง แต่ก็สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยสิ่งที่ต้องติดตามคือภาวะเงินเฟ้อ แต่หากซัพพลายในไทยมีเพียงพอ ก็อาจจะไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อก็เป็นได้

ทั้งนี้ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ส่วนมาก ไม่มีแนวคิดเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยาแรงในระยะสั้นอยู่แล้ว เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะโตได้แค่ปีเดียว ก่อนที่จะติดลบในปี 2568 เพราะฐานที่สูงขึ้นรวดเร็ว โดยนักวิชาการอยากเห็นการเติบโตที่ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถวางแผนการใช้จ่ายได้อบ่างเหมาะสม

“ทุก ๆ ครั้งที่ไทยเราเผชิญภาวะวิกฤติ เรามักจะกลับมาเติบโตได้ไม่ดีเหมือนเดิม โดยก่อนวิกฤติ ปี 40 เราโตได้ 7% ต่อปี ก็ลดลงเหลือ 4% พอผ่านวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ก็ลดลงเหลือ 3% ต่อปี และปัจจุบัน หลัง โควิด19 เราก็โตได้ 2% กว่า ๆ ดังนั้นเราไม่สามารถทำแบบเดิมได้ ไม่ควรฉีดสเตียรอยด์ทุกปี ควรเน้นโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวให้โตได้โดยไม่ต้องกระตุ้น”

แนะรัฐฯวางแผนเติบโตปี 2568 รองรับไว้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างดำเนินมาตรการแจกเงินดิจิทัล ภาครัฐต้องวางแผนให้อัตราการเติบโตมีความสม่ำเสมอในปีต่อ ๆ ไปด้วย ควรมีการจัดทำงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะที่สอดรับกับสถานการณ์ และหากลไลเติมเงินเข้าสู่ระบบตามวิธีการปกติที่ไม่ใช่การอัดฉีดเงิน

โดยภาคการท่องเที่ยวคือเครื่องยนต์ที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน เพราะไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 40 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันยังคงห่างไกลกับตัวเลขเดิม แม้ภาครัฐพยายามจะออกมาตรการฟรีวีซ่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจีน แต่ควรมองถึงเรื่องอื่นด้วย ให้ครบครัน และอีกส่วนคือการแก้ปัญหาหนี้ ช่วยทั้งภาคประชาชนมีเงินจับจ่ายเพิ่มขึ้น และช่วยธุรกิจให้มีความเสี่ยงและต้นทุนการดำเนินกิจการลดลง

สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ เชื่อว่าน่าจะเติบโตอยู่ที่ 2.8% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่นับจากนี้ หากรัฐบาลใหม่สามารถทำให้เติบโตอยู่ที่ 3.7-4% ต่อปี ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว