หอการค้าฯ พบ รมว.แรงงาน วันนี้ ถกนโยบายรัฐบาล “ค่าแรงขั้นต่ำ”

07 ก.ย. 2566 | 23:16 น.

หอการค้าฯ เตรียมหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ป้ายแดง วันนี้ ถึงประเด็นต่าง ๆ 4 เรื่องเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาล "ค่าแรงขั้นต่ำ" รวมทั้งแนวทางการส่งเสริม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

วันนี้ (8 กันยายน 2566) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า หอการค้าฯ เตรียมหารือร่วมกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาล รวมไปถึงเรื่องของ "ค่าแรงขั้นต่ำ" ด้วย

สำหรับการหารือร่วมกันในวันนี้ หอการค้าฯ กำหนดเนื้อหาเบื้องต้นในการหารือไว้ 4 เรื่อง คือ 

  1. นโยบายค่าแรงขั้นต่ำของทางรัฐบาลว่าจะมีแนวทางอย่างไร 
  2. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลาย ๆ กลุ่มธุรกิจที่สำคัญของประเทศ 
  3. แนวนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้วย 
  4. แนวนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานไทย รองรับการขยายตัวของธุรกิจ และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“ในการหารือร่วมกันระหว่างทางหอการค้าฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คงเป็นไปในยรูปแบบการพบปะพูดคุย ปรึกษากันมากกว่า โดยจะยังไม่ได้มีข้อเสนออะไรจากทางภาคเอกชนส่งต่อไปถึงรัฐบาล พัยงแต่ว่ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันก่อน”

นายสนั่น กล่าวอีกว่า หอการค้าฯ อาจจะมีการสะท้อนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บางเรื่อง เช่น นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนจากต่างชาติ แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ และเชื่อว่าการหารือครั้งนี้คงมีการพูดคุยกันก่อนในเบื้องต้น เพื่อจะได้รับรู้แนวนโยบายจากรัฐบาล

 

ภาพประกอบเรื่องแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า การไปพบปะกับทางหอการค้าฯ ถือเป็นการไปหารือกันเบื้องต้นก่อน เพราะทางหอการค้าถือเป็นกลุ่มที่เป็นนายจ้าง จึงต้องการไปพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งขอฟังเสียงสะท้อนของภาคเอกชนต่อรัฐบาลด้วย

ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ ตอนนี้ยังต้องรอให้นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน และเมื่อมีความชัดเจนด้านนโยบายแล้ว จากนั้นจะเริ่มต้นทำงานทันที พร้อมทั้งจะหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน โดยเฉพาะการพบปะตัวแทนผู้ใช้แรงงานต่อไป

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังถือฤกษ์เดินทางเข้ากระทรวงแรงงาน หลังถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้ามารายงานภารกิจน้าที่ของกระทรวงให้รับทราบในเบื้องต้น ก่อนจะเข้ามาบริหารอย่างเป็นทางการภายหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว 

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

“วันนี้คงไม่ได้ให้นโยบายอะไรมาก เนื่องจากต้องรอให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภาก่อนในวันที่ 11 – 12 กันยายนนี้ เมื่อได้รับนโยบายจากรัฐบาลแล้ว หลังจากนั้นจะได้มาแถลงนโยบายให้กับข้าราชการกระทรวงแรงงาน รวมทั้งฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้างได้ทราบว่า หลังจากนี้ไปอีก 4 ปีข้างหน้ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง และกระทรวงแรงงานได้รับนโยบายจากรัฐบาลจะทำอะไรบ้าง” 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือ อยากเห็นกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ เพราะคำว่าแรงงาน เข้าถึงทุกภาคส่วนองคาพยพในประเทศไทย และหลังจากได้พบกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แล้ว จะได้ไปพบปะหารือกัน 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายสหภาพแรงงาน นายจ้าง และข้าราชการให้ครบ เพื่อนำความคิดเห็นจากทุกฝ่ายมาประมวลว่าเราจะเดินไปในทิศทางไหน 

ส่วนนโยบายที่ท่านสุชาติ ชมกลิ่น เคยทำเอาไว้และเป็นนโยบายที่ดีอยู่แล้วก็จะทำต่อเนื่อง จะไม่นับหนึ่งใหม่ และจะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน