สัญญาณเตือน เด็กจบ ป.ตรี ว่างงานพุ่ง ทำงานได้เงินเดือนต่ำ

27 ส.ค. 2566 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2566 | 05:05 น.

สภาพัฒน์ เปิดข้อมูลปัญหาของตลาดแรงงานของไทย แจ้งสัญญาณเตือน เด็กจบปริญญาตรี ว่างงานเพียบ ได้เงินเดือนต่ำ และแถมต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น เช็ครายละเอียดสัญญาณอันตรายจ้างงานได้ที่นี่

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลปัญหาของตลาดแรงงานของไทย และ การว่างงาน พบว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง และตลาดแรงงานของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังพบปัญหาคุณภาพของแรงงานและความไม่สอดคล้องของตลาดแรงงาน (Labor mismatching) ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการยกระดับการผลิตของไทยในอนาคต

ข้อมูลความต้องการแรงงานล่าสุด

จากข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงานจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงปี 2561 - 2565 พบว่าความต้องการแรงงานรวมเพิ่มขึ้นจาก 95,566 คนในปี 2561 เป็น 168,992 คนในปี 2565 แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น ลดลงจาก 30.1% ของความต้องการแรงงานรวม ในปี 2561 เหลือเพียง 17.2% ในปี 2565 เท่านั้น 

ส่วนสัดส่วนความต้องการแรงงานในการศึกษาระดับ ปวช. - ปวส. ลดลงเล็กน้อยจาก 23.7% ในปี 2561 เป็น 22.5% ในปี 2565 ขณะที่สัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 เพิ่มขึ้นจาก 41.1% ในปี 2561 เป็น 57.3% ในปี 2565 

อีกทั้งเมื่อพิจารณาเฉพาะความต้องการแรงงานเพียงสองระดับการศึกษา คือ ปริญญาตรีขึ้นไปและระดับ ปวช. และ ปวส. พบว่า สัดส่วนเฉลี่ยของความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปลดลง โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2561 - 2565 อยู่ที่ 45.6% ขณะที่สัดส่วนเฉลี่ยของความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. กลับเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยปี 2561 - 2565 อยู่ที่ 54.4%

 

ความต้องการแรงงานจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของ BOI

เปิดความต้องการแรงงานของบริษัท EEC

เมื่อพิจารณาข้อมูลความต้องการแรงงานของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC ในปี 2565 จำแนกตามการศึกษา จำนวน 419 โครงการ ซึ่งมีความต้องการแรงงานรวม 52,322 คนนั้น พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการมากที่สุด มีดังนี้

  • ความต้องการแรงงานระดับ ป.6 ถึง ม.6 มีสัดส่วนถึง 59.1% 
  • ความต้องการแรงงานระดับ ปวช. - ปวส. อยู่ที่ 25.2% 
  • ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ 14.7% เท่านั้น 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการ มากที่สุด มีดังนี้

  • ความต้องการแรงงานระดับ ป. 6 ถึง ม.6 มีสัดส่วน 63.9 และ 63.2% ตามลำดับ 
  • ความต้องการแรงงาน ระดับ ปวช. - ปวส. อยู่ที่ 22.5% และ 23.6% ตามลำดับ 
  • ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ 13.5% และ 12.9% ตามลำดับ 

โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. ในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ 

 

ความต้องการแรงงานของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากำลังแรงงาน โดยอ้างอิงจากจำนวนนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในภาคอุดมศึกษา (ระดับปริญญาตรีขึ้นไป) พบว่า ในปี 2564 มีจำนวนนักศึกษา ในระดับอุดมศึกษารวม 1,902,692 คน แม้จะลดลงจากจำนวน 2,171,663 ในปี 2561 แต่ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนที่อยู่ในระดับ ปวช. และ ปวส. ในปี 2564 ที่มีจำนวน 374,962 คน 

ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อน ให้เห็นถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานที่เผชิญกับปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างกำลังแรงงานที่ผลิตออกมา (ด้าน Supply) และความต้องการของตลาด (ด้าน Demand) นั่นคือ มีแรงงานจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดที่จบอุดมศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสัดส่วนสูงมาก 

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้แรงงานในระดับปริญญาตรีต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น และสัดส่วนผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดของตลาดแรงงานไทยในระยะต่อไป

 

ข้อมูลประกอบ ด้านความต้องการแรงงาน และสัดส่วนนักเรียน นักศึกษา ที่อยู่ในระดับปริญญาตรี