รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินหน้าประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาข้อสรุปการหาเงินมาใช้นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ผ่าน Digital Wallet วงเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยมีเงื่อนไขต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน เพื่อกระตุกเศรษฐกิจไทย และก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ
แหล่งข่าวจากคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้นำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งไว้จำนวน 3,350,000 ล้านบาท และแหล่งเงินจากที่ต่างๆมาหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้วเห็นว่าไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่คาดว่าจะใช้เงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท
รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ด้วยการเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ควบคู่กับการปรับลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และการใช้นโยบายกึ่งการคลัง ด้วยการขยายกรอบเพดานการใช้จ่ายตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ให้หน่วยงานของรัฐออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการไปก่อนแล้วรัฐบาลจะทยอยตั้งงบประมาณชดเชยให้ภายหลัง
สำหรับการปรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548ฯ กำหนดให้รัฐบาลกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลได้ไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี บวกอีก 80% ของงบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้
เมื่อพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตั้งไว้ 3.35 ล้านล้านบาท กำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 593,000 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนเงินต้น 117,250 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้สูงสุดถึง 763,800 ล้านบาท จึงยังมีช่องที่รัฐบาลเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลได้อีก 170,800 ล้านบาท (กรอบวงเงินขาดดุลสูงสุด 763,800 ล้านบาท ลบด้วยวงเงินขาดดุลงบประมาณเดิม 593,000 ล้านบาท)
รัฐบาลประเมินว่าเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการดำเนินนโยบายรัฐบาลจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2557 ประมาณ 7-7.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากกรอบเดิม 1-1.5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท
การปรับเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณครั้งนี้จะมีการปรับประมาณการรายได้เพิ่มเติมจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจะได้รับจากนโยบายแจกเงินดิจิทัลในปีงบประมาณ 2567 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5 – 3 หมื่นล้านบาทควบคู่ไปด้วย ทำให้ประมาณการรายได้เพิ่มจาก 2.757 ล้านล้านบาท เป็น 3-3.1 ล้านล้านบาท
ส่งผลให้กรอบวงเงินงบประมาณปี 2567 เพิ่มจาก 3.35 ล้านล้านบาท เป็น 3.475-3.525 ล้านล้านบาท ส่วนวงเงินสุดท้ายจะมีจำนวนเท่าใดจะต้องรอให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเคาะอีกครั้ง โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 3.45-3.5 ล้านล้านบาท
ส่วนการใช้นโยบายกึ่งการคลัง จะดำเนินการด้วยการขยายกรอบเพดานการใช้จ่ายตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่เปิดช่องให้รัฐบาลสามารถมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการโดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการ ดําเนินการไปก่อนได้ ใน 3 กรณีคือ 1.เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 3. เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม ซึ่งการนโยบายเติมเงินดิจิทัลเข้าข่ายการดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2
กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่าควรขยายกรอบเพดานการก่อหนี้ที่ระดับเท่าใด เพราะปัจจุบันกรอบวงเงินที่สามารถนำมาดำเนินโครงการตามมาตรา 28 เหลือประมาณ 18,000 ล้านบาท จะเต็มกรอบเพดานการใช้จ่ายที่กำหนดให้ก่อหนี้สูงสุดไม่ 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท
ขณะที่งบประมาณ 2567 ที่กำหนดวงเงินเบื้องต้นไว้ที่ 3.475-3.525 ล้านล้านบาท หากกำหนดกรอบเพดานการก่อหนี้สูงสุดไม่ 32% ก็จะทำให้รัฐบาลมีพื้นที่การดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ตามมาตรา 28 ได้ประมาณ 1.11-1.23 ล้านล้านบาท เมื่อหักกับภาระผูกพันที่มีอยู่ 1,039,920 ล้านบาท ก็จะมีเงินเหลือ เพียง 1 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น ไม่เพียงพอกับการนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท
เบื้องต้นกระทรวงการคลังเห็นว่าควรมีการขยายเพดานการก่อหนี้ตามมาตรา 28 เพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 35% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ไปก่อน เพื่อให้มีวงเงินสำรองมารองรับนโยบายเพิ่มเติมอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณที่จะปรับกรอบวงเงินเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนกว่าล้านบาท ก็จะมีวงเงินสูงถึง 3 แสนกว่าล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะนำมาเป็นเงินสำรองเพื่อรองรับการเบิกถอนสำหรับการดำเนินนโยบาย หากไม่พอก็สามารถขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมได้
ส่วนเงินที่จะนำมาใช้นั้นเบื้องต้นรัฐบาลได้หารือกับธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินแล้ว ทั้ง 2 ธนาคารยินดีที่จะสนับสนุนนโยบายนี้ด้วยการไปจัดหาวงเงินมาให้รัฐบาลนำมาใช้ดำเนินโครงการไปก่อนแล้วรัฐบาลจะตั้งงบประมาณชำระหนี้ให้ภายใน 3 ปี
กระทรวงการคลังมองว่านโยบายเงินดิจิทัลของรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องตั้งวงเงินเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการครั้งเดียว 5.6 แสนล้านบาท เพราะวงเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น ไม่สามารถแลกเป็นเงินสดออกมาใช้จ่ายได้ยกเว้นกรณีร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่รับชำระเงินดังกล่าวสามารถถอนเงินสดออกมาได้ผ่านกลไกธนาคารรัฐ
ส่วนกรณีร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถเข้าร่วมโครงการรับชำระเงินได้แต่จะต้องนำวงเงินดังกล่าวไปใช้ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่จด Vat ต่อไม่สามารถแลกเป็นเงินสดออกมาได้
จากเงื่อนไขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่รัฐบาลเติมให้กับประชาชนนั้น จะไม่ได้ถูกเบิกเป็นเงินสดในครั้งเดียว แต่ยังคงหมุนเวียนอยู่ในระบบ รัฐบาลจึงได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ได้รับเงินดิจิทัลมือที่ 2 เป็นต้นไป สามารถนำไปใช้จ่ายต่อ หรือเบิกเป็นเงินสดเมื่อใดก็ได้ จะไม่มีการจำกัดเวลาการใช้ว่าจะต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือนกับประชาชนที่ได้รับในมือแรก ซึ่งเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบตามมา
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคาร ออมสินเปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารมีวงเงินที่รอการชำระคืนจากรัฐบาลตามมาตรา 28 น้อยมาก เนื่องการส่วนใหญ่จะเป็นการชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยหรือหนี้เสีย ส่วนการจะให้ธนาคารออมสินดำเนินการจัดหาแหล่งเงิน เพื่อนำมาใช้กับโครงการต่างๆของรัฐบาลเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็พร้อมที่จะดำเนินการ เพราะธนาคารมีความพร้อมและถือเป็นแหล่งทุนให้กับรัฐบาลอยู่แล้ว เพียงแต่ให้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับเท่านั้น
ขณะที่สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ประเมินว่าการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ทั้งปีขยายตัว 3.9% มูลค่าจีดีพีเพิ่มจาก 18.18 ล้านล้านบาทในปี 2566 เป็น 19.25 ล้านล้านบาทในปี 2567 ขณะที่หนี้สาธารณะเพิ่มจาก 10.97 ล้านล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2566 หรือ 61.69% ของจีดีพี เป็น 12.23 ล้านล้านบาท หรือ 63.5% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2567