เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยถูกบรรจุเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เตรียมแถลงต่อรัฐสภา ในฐานะนโยบายของรัฐบาล
สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยทำการแจกเงินผ่าน Digital Wallet ถูกกำหนดวงเงินไว้สูงถึง 5.6 แสนล้านบาท มีเงื่อนไขเบื้องต้น ตามที่พรรคเพื่อไทยเคนประกาศเอาไว้ในช่วงหาเสียงว่า ผู้ที่ได้รับสิทธิ หมายถึงคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้กระเป๋าเงินดิจิทัล โดยมีอายุการใช้งาน 6 เดือน สำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข และไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
โดยที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเอาไว้ว่า นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะเริ่มใช้ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2567 หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยเป็นการจ่ายรวดเดียวหนเดียว ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)
อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น ยังมีการกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวการใช้เงิน เพราะกำหนดให้เงินดิจิทัลนี้จะใช้จ่ายได้ เฉพาะกับร้านค้าชุมชนและบริการที่ อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน
นั่นจึงอาจทำให้กลุ่มคนหนึ่งที่เป็นประชากรแฝง ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาทำงานต่างถิ่น โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลายคนอาจไม่ได้ใช้สิทธิในนโยบายนี้ หรือถ้าใช้ก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกได้ เพราะจะต้องใช้จ่ายเงินดิจิทัลในพื้นที่รัศมี 4 กิโลเมตรตามที่อยู่ที่ระบุเอาไว้ในทะเบียนราษฎร์
ฐานเศรษฐกิจได้สำรวจ ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจ ณ เดือนสิงหาคม 2566 ดังนี้
ส่วนจำนวน "ประชากรแฝง" ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจประชากรแฝง ล่าสุด ในปี 2565 ประกอบด้วยประชากรกลุ่มที่ได้เข้ามาทำงานหรือเรียนหนังสือในจังหวัดที่ตนไม่ได้พักอาศัย ลักษณะเช้าไปเย็นกลับ เรียกว่า “ประชากรแฝงกลางวัน” และประชากรกลุ่มที่มาอาศัยอยู่ประจำแต่ไม่มีการย้ายทะเบียนบ้านหรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ตนพักอาศัย เรียกว่า “ประชากรแฝงกลางคืน” พบข้อมูล ดังนี้
ทั้งนี้หากประชากรแฝงกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯกว่า 2.75 ล้านคน ต้องการจะใช้สิทธิในการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามนโนบายของรัฐบาล แน่นอนว่าจะต้องเดินทางกลับไปใช้จ่ายในพื้นที่ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน โดยมีระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะต้องจับตาต่อไปว่า คนกลุ่มนี้จะสามารถใช้สิทธิได้ทั้งหมดหรือไม่
ส่วนรายละเอียดที่แน่ชัดของเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล ฐานเศรษฐกิจจะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ ต่อไป