"พิศิษฐ์" ผ่า 3 ปมพิรุธ "ธุรกิจกำนันนก" จี้ สตง.ตรวจสอบย้อนหลัง

11 ก.ย. 2566 | 09:44 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2566 | 08:37 น.

"พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส" จี้ สตง.เร่งตรวจสอบโครงการที่ "กำนันนก" ชนะประมูล ตั้งข้อสังเกตพิรุธ 3 ปม "เสนอต่ำกว่าราคากลาง - ยื่นประมูลน้อยทั้งที่แห่ซื้อซองหลายราย-จัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงบ่อย"

ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดปม "ธุรกิจกำนันนก" หรือ นายประวีณ จันทร์คล้าย กำนันตำบลตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม หลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีสั่งยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรแบงค์ สารวัตรทางหลวง

ก่อนหน้านี้ ฐานเศรษฐกิจ เจาะข้อมูลพบขุมข่ายธุรกิจที่สำคัญของกำนันนก คือบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 2 แห่ง ที่ถือหุ้นร่วมกับคนในตระกูล "จันทร์คล้าย" คือ

  1. บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง
  2. บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด

ซึ่งทั้งสองบริษัทมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ 5 ปีย้อนหลังรวม 2,655.705 ล้านบาท

เมื่อตรวจสอบข้อมูลการรับงานภาครัฐจากระบบค้นหาข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ฐานเศรษฐกิจพบว่า บริษัททั้ง 2 แห่ง รับงานก่อสร้างโครงการรัฐ ทั้งสิ้น 1,311 สัญญา วงเงินรวม 7,108,912,659.44 บาท 

ส่วนใหญ่เป็นการรับงานก่อสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุงถนน จากองค์การบริการส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาลนคร เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ในจังหวัดนครปฐมกว่า 1,200 สัญญา มูลค่างานรวมกว่า 4,700 ล้านบาท

และนอกจากนี้ยังพบว่าในรอบ 2 ปี ได้งานจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง แบบไม่ต้องยื่นซองประมูล เกือบ 80 โครงการ

ขุมข่ายธุรกิจกำนันนก

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงธุรกิจของกำนันนกว่า จากข้อมูลพบข้อสังเกตที่อาจจะมีความไม่ชอบมาพากลและสงสัยในหลายเรื่อง เรื่องนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ควรเข้าไปตรวจสอบการประมูลงาน โครงการจัดซื้อจัดจ้างๆของจังหวัดนครปฐมและจังหวัดอื่นๆที่บริษัทของกำนันนกได้งาน 

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)

โดยนายพิศิษฐ์ ตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็น และชี้เป้าให้สตง.เข้าไปตรวจสอบว่า

1. ให้ตรวจสอบย้อนหลัง

ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ ทั้งในเรื่องของการกำหนดราคากลาง ที่พบว่ามีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 30-40% 

"เรื่องนี้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจัดฉากการประมูล หรือกำหนดราคากลางให้สูงเพื่อจัดฉากการประมูลหรือไม่" อดีตผู้ว่าสตง. กล่าว 

2. บริษัทซื้อซองจำนวนมากแต่ประมูลจริงเหลือไม่กี่ราย

การประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละครั้งพบว่ามีบริษัทมาซื้อซองโครงการจำนวนมาก แต่เมื่อถึงกำหนดเวลามายื่นประมูลจริง พบว่าจะเหลือเพียง 2-3 รายเท่านั้น และส่วนใหญ่บริษัทที่ได้ก็เป็นบริษัทที่กำนันนกถือหุ้น 

"ซึ่งตั้งข้อสังเกตจุดนี้ว่าการประมูลจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างโปร่งใส และฮั๊วประมูลหรือไม่ก็ต้องตรวจสอบ" 

3. การใช้วิธีประมูลแบบเฉพาะเจาะจง

อาจจะมีเรื่องของการแบ่งซองโครงการย่อยออกมาเป็นโครงการเล็กๆอีก เพื่อให้มีการประมูลแบบเฉพาะเจาะจงได้อีกมาก

อดีตผู้ว่าสตง. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปกติก่อนหน้านี้้สตง. เคยกำหนดการประมูลงานที่มีการเสนอต่ำกว่าราคากลาง 15% จะต้องนำมาดูรายละเอียด ดูการกำหนดทีโออาร์โครงการว่ามีความถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่ดูแค่ว่าบริษัทผู้ประมูลเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง แล้วจะบอกว่าเป็นการเสนอราคาที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐเสมอไป ซึ่งไม่ใช่เสมอไป

"การจัดซื้อจัดจ้างจะต้องดูรายละเอียด อย่างเช่น งานเกี่ยวกับการก่อสร้างถนน ซ่อมแซมถนน โดยปกติก็กำไร 30% อยู่แล่ว ถ้าเขาประมูลต่ำกว่าราคากลางอย่างมากก็ไม่ควรไว้วางใจ คำถามคือบริษัทจะอยู่ได้อย่างไร"