"ลดค่าไฟ"เหลือ 4.10 บาท รัฐฯ จ่อยืดหนี้ กฟผ. 1.5 แสนล้าน

11 ก.ย. 2566 | 03:11 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2566 | 03:12 น.

"ลดค่าไฟ"เหลือ 4.10 บาท รัฐฯ จ่อยืดหนี้ กฟผ. 1.5 แสนล้านเดินหน้านโยบาย ผู้เชี่ยวชาญพลังงานชี้เป็นแนวทางที่ได้ผลในระดับหนึ่งแค่ชั่วคราว ระบุจำเป็นต้องมาดูว่าการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าอย่างถาวรต้องทำอย่างไร

"ลดค่าไฟ" นโยบายที่ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกาศเดินหน้าทำทันทีหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก 

โดยมุ่งหวังจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนไม่ใช่เฉพาะแค่ราคาพลังงานแต่รวมไปถึงค่าครองชีพอื่นๆด้วย เพราะพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค การปรับลดราคาพลังงานให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมจึงเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง      
          
จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับแนวทางที่จะปรับลดค่าไฟ พบว่า

การยืดหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) น่าจะเป็นแนวทางแรกที่รัฐบาลจะเลือกทำ โดยปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าเอฟทีให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน 1.5 แสนล้านบาท โดยจะต้องมีการชำระหนี้คืนให้ กฟผ.ในระยะเวลา 20 เดือน

โดยสอดคล้องกับที่ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ระบุว่า หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีการยืดการชำระหนี้ให้ กฟผ.ออกไปเพื่อลดค่าเอฟที ถือเป็น มาตรการที่ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลใหม่จำเป็นต้องมาดูว่า การแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าอย่างถาวรจะต้องทำอย่างไร

ส่วนการแก้ปัญหาแหล่งพลังงานใหม่ระยะยาว คือ เดินหน้าในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย -กัมพูชา เพื่อเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติ เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนับวันทรัพยากรจะต้อง ลดลงต่อเนื่อง โดยถ้ารัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการ สำเร็จจะถือเป็นการโชว์ฟอร์มที่ดี นำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องพึ่งพิงการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูงในปัจจุบัน

ลดค่าไฟเหลือ 4.10 บาท รัฐฯ จ่อยืดหนี้ กฟผ. เดินหน้านโยบาย

"รัฐบาลต้องมองให้กว้างไปกว่านั้น เพราะโรงไฟฟ้ามีการลงทุนสูง และมีอายุสัญญากว่า 20 ปี จึงจะต้องดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี (PDP) ฉบับใหม่ที่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน โดยส่วนหนึ่งยังไม่เหมาะสมจากการกำหนดเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีสัดส่วนสูงกว่า 50% ในระยะเวลา 20-30 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และเป้าหมาย Net Zero ปี 2065 ดังนั้น ตามแผนจะต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่าแผนเดิม"

อย่างไรก็ดี การผลักดันระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟในเดือนถัดไปที่เรียกว่าระบบ หรือ Net Metering โดยในความคิดเห็นส่วนตัว มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะส่งเสริม โดยรัฐบาลต้องเข้ามาศึกษาอย่างรอบด้าน เพราะการติดตั้ง โซลาร์บนหลังคาบ้านหรือโรงงาน มีโอกาสที่ไฟเหลือใช้ในช่วงกลางวันมาหักลบ เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยู่บ้านช่วงกลางวัน เมื่อไฟเหลือก็ต้องใช้ประโยชน์ โดยขายเข้าสมาร์ตกริด และหลายประเทศรับซื้อ ในราคาดี เพราะจะสนับสนุนพลังงานสะอาด ส่งเสริมให้มีการติดตั้งบนหลังคามากขึ้น

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า หากคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหมดพบว่าค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีจะอยู่ที่ระดับ 4.10 บาทต่อหน่วย จากราคาที่ประกาศ 4.45 บาทต่อหน่วย

หากรัฐเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชะลอคืนหนี้ 1.1 แสนล้านบาทออกไป จะทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายนถึงธันวาคมนี้ ลงมาอยู่ที่ 4.10-4.20 บาทต่อหน่วยได้ 

แต่หากชะลอหนี้ไม่ได้ รัฐต้องใช้งบประมาณเข้ามาอุดหนุนอย่างน้อย 15,000 ล้านบาท จะลดค่าไฟเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย 

อย่างไรก็ดี การลดค่าไฟหากไม่ทันบิลเรียกเก็บเดือนกันยายน อาจใช้วิธีให้ส่วนลดย้อนหลังเหมือนที่เคยทำในอดีต 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กำหนดค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.2566) อยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย มาจากค่าไฟฐานราว 3.70 บาทต่อหน่วย และค่าไฟอัตโนมัติ (เอฟที) 66.89 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งหากคิดเฉพาะต้นทุน ค่าไฟจะอยู่ที่ 4.07 บาทต่อหน่วย โดย 38 สตางค์ จะเป็นการใช้หนี้ให้ กฟผ.ที่รับภาระต้นทุนเชื้อเพลิง แทนประชาชน ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และผลกระทบ รัสเซีย-ยูเครน รวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท

แนวทางการลดค่าไฟระยะสั้นที่ทำได้ 2 แนวทาง คือ 1.การยืดเวลาการชำระหนี้ ให้ กฟผ.ออกไป 2.รัฐบาลจัดงบประมาณอุดหนุนค่าไฟฟ้า โดยการทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 1 สตางค์ ต้องใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา กฟผ.ยืดเวลาการรับชำระหนี้จากเดิมชำระคืน 6 งวดเอฟที เป็น 7 งวดเอฟทีมาแล้ว ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.ยังคงแบกภาระค่าเอฟทีราว 1.3 แสนล้านบาท ถ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ได้คืนปกติจะเหลือราว 1.1 แสนล้านบาท