นักวิชาการ แนะทบทวนแผนการคลัง ปีหน้ารับนโยบาย“รัฐบาลเศรษฐา”

20 ก.ย. 2566 | 07:20 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2566 | 07:28 น.

นักวิชาการ แนะทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง ปีหน้ารับนโยบาย“รัฐบาลเศรษฐา” ชี้โอกาสขาดดุลงบประมาณ อาจสูงกว่าแผนการคลังระยะปานกลาง ได้ พร้อมเร่งหาทางรับมือ

แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครอบคลุมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567- 2570 ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยมีวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 14,602,000 ล้านบาท รายได้นำส่งคลังรวม 11,745,000 ล้านบาท  โดยรัฐบาลยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง โดยมีแผนกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลรวม 2,857,000 ล้านบาท

ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขับเคลื่อนแผนการคลังระยะปานกลางอาจต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งหลังปี 2567 เพราะรัฐบาลต้องบริหารแนวนโยบายที่ประกาศไว้กับประชาชน ซึ่งแต่ละพรรคคิดเป็นค่าใช้จ่ายสูงมาก ขณะที่รายได้อาจจะกลับมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ภาพรวมยังเป็นนามธรรม

ดังนั้นหากรัฐบาลเริ่มแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท น่าจะทำให้สัดส่วนจีดีพีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2% เพื่อให้จีดีพีขยายตัวที่ 5% ซึ่งจีดีพีเพิ่ม 2% หรือประมาณกว่า 3.6 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่า รัฐบาลยังขาดเงินที่จะต้องมาโปะหรือต้องก่อหนี้อีกกว่า 2 แสนล้านบาท 

“หากไม่สามารถไปตัดค่าใช้จ่ายจากนโยบายของพรรคร่วมได้ ตัวเลขขาดดุลที่อาจเพิ่มขึ้นถึง 4% ของจีดีพีได้ ประเด็นคือ จีดีพีจะเพิ่มขึ้นได้ 5% ที่ตั้งเป้าหรือไม่ สามารถตัดงบประมาณรายจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก และหากทำไม่ได้โอกาสที่จะขาดดุลงบประมาณจะสูงกว่าแผนการคลังระยะปานกลางที่ออกมา และอาจจะเกิดประเด็นที่คาดไม่ถึงได้ในระยะต่อไป” ดร.สมชาย กล่าว

 

คนไทยอ่วมหนี้ท่วมหัว รับนโยบายประชานิยม “รัฐบาลเศรษฐา”

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การจัดทำแผนขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องนั้น ต้องไปดูไส้ในด้วยว่า จะกระทบต่อการจ่ายดอกเบี้ย การลงทุน หรือด้านภาระผูกพันมากแค่ไหน ซึ่งขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องสำคัญๆ 3 เรื่องคือ

  1. การไม่ลงทุนสร้างเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจ 
  2. การมีภาระผูกพันด้านสวัสดิการสูงอายุ แต่ไม่มีภาษีเพิ่มใช้ในกลุ่มนี้ 
  3. การใช้เงินนอกงบประมาณอาจกระทบภาระหนี้ในอนาคต 

อย่างไรก็ดีหากมองในแง่ดี ถ้าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีต่อไป ก็ยังไม่น่าจะมีกังวลมากนัก

 

แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครอบคลุมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567- 2570

สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลาง

สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลาง ที่ผ่านการเห็นชอบจากครม. โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ

ในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จะขยายตัวอยู่ที่ 3.2% และ GDP Deflator อยู่ที่ 1.8% สำหรับปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ที่ 3.6% และขยายตัวอยู่ที่ 3.4% ในปี 2569 - 2570 ในส่วนของ GDP Deflator ในปี 2568 - 2570 อยู่ที่ 2%

2. สถานะและการประมาณการการคลัง

ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 - 2570 แยกเป็น

  • ปี 2567 เท่ากับ 2,787,000 ล้านบาท
  • ปี 2568 เท่ากับ 2,899,000 ล้านบาท
  • ปี 2569 เท่ากับ 2,985,000 ล้านบาท
  • ปี 2570 เท่ากับ 3,074,000 ล้านบาท 

ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 - 2570 แยกเป็น

  • ปี 2567 เท่ากับ 3,480,000 ล้านบาท
  • ปี 2568 เท่ากับ 3,591,000 ล้านบาท
  • ปี 2569 เท่ากับ 3,706,000 ล้านบาท
  • ปี 2570 เท่ากับ 3,825,000 ล้านบาท 

จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2567 - 2570 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ แยกเป็น

  • ปี 2567 เท่ากับ 693,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.63% ต่อจีดีพี
  • ปี 2568 เท่ากับ 692,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.43% ต่อจีดีพี
  • ปี 2569 เท่ากับ 721,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.40% ต่อจีดีพี
  • ปี 2570 เท่ากับ 751,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.36% ต่อจีดีพี

ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567 -2570 แยกเป็น

  • ปี 2567 เท่ากับ 64.00%
  • ปี 2568 เท่ากับ 64.65%
  • ปี 2569 เท่ากับ 64.93%
  • ปี 2570 เท่ากับ 64.81%

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3924 วันที่ 21 – 23 กันยายน พ.ศ. 2566