นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการพักหนี้ดูแลเอสเอ็มอี นาน 1 ปี ทั้งลูกหนี้ที่อยู่ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือลูกหนี้ลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน ซึ่งปัจจุบันมีเอสเอ็มอีทั้งหมด 3 ล้านราย มูลหนี้ 3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เอสเอ็มอีกลุ่มดังกล่าว เป็นลูกหนี้ธนาคารออมสินมากที่สุด ส่วนลูกหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์นั้น จะมีการหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินมาตรการดังกล่าว ซึ่งเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่ปกติ หรือเป็นหนี้เสียที่เป็นตั้งแต่โควิด แต่ก่อนหน้านี้เคยเป็นลูกหนี้ที่จ่ายเงินปกติ ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ แต่จากเหตุการณ์โควิดส่งผลให้ไม่สามารถใช้หนี้ได้
"การพิจารณาพักการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีนั้น จะมีการกำหนดกรอบของมูลหนี้ที่สามารถเข้าโครงการนี้ได้ มิฉะนั้นภาระการชดเชยจะบายปลายไปมาก ซึ่งหนี้ของเอสเอ็มอีมีทั้งที่อยู่ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และอยู่ในธนาคารพาณิชย์ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณามากกว่าการพักหนี้ให้กับเกษตรกร"
ส่วนเอสเอ็มอีที่ขณะนี้อยู่ในมาตรการช่วยเหลือของรัฐแล้ว จะไม่ถูกรวมเข้ามาในโครงการพักหนี้ครั้งนี้ของรัฐบาล แต่กระทรวงการคลังจะพิจารณาหาวิธีการให้สามารถเข้าโครงการพักหนี้ในปีถัดๆไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี จะลงนามแต่งตั้งคณะทำงาน เรื่องการพักหนี้ของเอสเอ็มอี ที่กรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธกส. ธนาคารออมสิน สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีตนเป็นประธานคณะทำงานชุดนี้
ขณะที่โครงการพักการชำระหนี้เกษตรกร 3 ปีนั้น ภายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เพื่ออนุมัติในรายละเอียด เช่น มูลหนี้ไม่เกินเท่าไหร่ จะสามารถเข้าโครงการพักหนี้ได้ และกระทรวงการคลัง จะเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติ ในการประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 26 ก.ย.นี้
สำหรับการพักกาชำระหนี้ของเกษตรกรในครั้งนี้ จะแตกต่างจากการพักหนี้เกษตรกรในอดีต กล่าวคือ แม้จะเข้าโครงการพักหนี้แล้วก็ตาม แต่เกษตรกรยังสามารถกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจา ธ.ก.ส.ได้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ เพื่อให้หลังจากพ้นระยะเวลาการพักหนี้ภพแล้ว เกษตรกรจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง โดยระหว่างการพักหนี้ ธ.ก.ส.ก็จะเปิดโอกาสให้เกษตรกร ที่มีความต้องการชำระหนี้ สามารถชำระหนี้เข้ามาได้ โดยเงินที่มาชำระหนี้จะนำไปตัดส่วนที่เป็นเงินต้น เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพื่อให้หลังพ้นระยะเวลาการพักชำระหนี้แล้ว เกษตรกรจะได้มีภาระหนี้ลดลง
นอกจากนั้น ในระหว่างการดำเนินนโยบายพักหนี้เกษตรกร ทางรัฐบาลก็จะดำเนินนโยบายอื่นควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เช่น นโยบายเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 3 เท่าตัว โดยรัฐบาลจะไปเจรจาทำ FTA กับประเทศต่างๆเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มยอดการส่งออก ,รวมถึงการให้ SFI ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเพิ่มเติม เพื่อประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังจะมีนโยบายแจกเงินดิจิตอลเข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรมีเงินไปประกอบอาชีพได้เพิ่มเติมด้วย