ที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ล่าช้ากว่า 2 ปี จากการปรับเกณฑ์การประมูลโครงการและเปิดประมูลใหม่ ทำให้เอกชนผู้เสียหายอย่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ฟ้องร้องต่อศาลปกครองมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดศาลปกครองครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563
ทั้งนี้ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ดำเนินการสอดคล้องไปกับข้อกำหนดของ พรบ.ร่วมทุนปี 2562 ไม่เข้าข่ายเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่ง หรือกีดกัดเอกชนรายใดไม่ให้เข้าร่วม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการประมูลครั้งที่ 2 รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนเปิดรับซองเอกสารเป็นเวลา 60 วัน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ดำเนินการตามรูปแบบกำหนดของ พรบ.ร่วมทุนปี 2562 จึงไม่มีเหตุรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะเดียวกันศาลฯยังวินิจฉัยอีกว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ที่ออกโดยรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ไม่มีลักษณะประการใดที่ทำให้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดแก่บีทีเอสซี โดยรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บีทีเอสซี
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ขณะนี้ รฟม. ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนและได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบเพื่อลงนามสัญญา แต่ปัจจุบันยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการดังกล่าวระหว่าง รฟม. และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ต้องรอศาลปกครองสูงสุดพิจารณา
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางประมาณ 22.57 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จเกือบ 100% ซึ่งบางสัญญาอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดงานประมาณ 1% ส่วนสัญญาอื่นๆที่รฟม.ตรวจรับงานแล้วจะต้องเข้าไปดำเนินการดูแลรักษา ส่งผลให้มีค่าบำรุงรักษาทั้งโครงการประมาณ 41 ล้านบาทต่อเดือน
“หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนหรือไม่นั้น เบื้องต้นรฟม.ตั้งใจให้เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกไปก่อน เพราะหากรอการก่อสร้างในส่วนตะวันตกซึ่งเป็นการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาที่มีลักษณะใต้ดินตลอดทั้งสายจนสิ้นสุดสถานีปลายทางคือ สถานีบางขุนนนท์ จะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 5-6 ปี จึงจะสามารถติดตั้งงานระบบและอาณัติสัญญาณได้”
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า หากรฟม.ได้ลงนามสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มร่วมกับเอกชนผู้ชนะการประมูลภายในปีนี้ และสามารถเริ่มดำเนินการได้แล้ว เอกชนจึงจะเริ่มติดตั้งงานระบบและอาณัติสัญญาณของสายตะวันออกก่อน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569
สำหรับคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ฟ้องร้องอยู่ในศาล อีกจำนวน 2 คดี ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในศาลปกครอง 1 คดี คือ คดีที่อยู่ระหว่างรอบีทีเอสซียื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หลังจากศาลปกครองกลางยกฟ้องในกรณีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ฟ้องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการกีดกันด้านการแข่งขัน
ส่วนอีก 1 คดี ปัจจุบันอยู่ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีได้ฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ในการแก้ไขเอกสารการประกวดราคาและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นการทุจริตละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปัจจุบันคดีนี้ทางบีทีเอสซีอยู่ระหว่างขอขยายเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา
ทั้งนี้ประชาชนต่างเฝ้ารอและคาดหวังว่า “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ป้ายแดงในยุครัฐบาลใหม่ “เศรษฐา ทวีสิน” จะสามารถผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มพร้อมเปิดให้บริการได้เร็วๆนี้หรือไม่