เปิดผล กฤษฎีกา ตีความ 3 กฎหมาย เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท

26 ต.ค. 2566 | 08:59 น.
อัพเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2566 | 14:31 น.

กฤษฎีกา ตีความกฎหมาย 3 ฉบับ นโยบาย เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท ไม่ขัด พ.รบ.วินัยการเงินการคลัง แต่ขัดพรบ.ออมสิน ส่วนพ.ร.บ.เงินตรา หากไม่เก็บกลับหลังสิ้นสุดโครงการขัดกฎหมาย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า หลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือหลายครั้ง และมีการได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า โครงการนี้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบกฎหมายหรือไม่ 

โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พ.ศ. 2485 ที่ให้อำนาจ ธปท. องค์กรเดียวในการออกเงินตรา และพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 มาตรา 9 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่ายใช้หรือนำออกใช้ ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดฯแทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รวมทั้ง พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน ทำให้ต้องเสนอเรื่องไปให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่าขัดต่อข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่

 

เปิดผล กฤษฎีกา ตีความ 3 กฎหมาย เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำหนังสือตอบกลับมาแล้วถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แบ่งเป็น 3 กรณี ตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้ 

1. พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จากการตีความการดำเนินนโยบายตามข้อกฎหมายฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า สามารถดำเนินนโยบายได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

2.พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 จากการตีความการดำเนินนโยบายตามข้อกฎหมายฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า สามาถดำเนินนโยบายได้ ถ้าสามารถเก็บเงินหรือให้ร้านค้าที่รับเงินเป็นคนสุดท้ายเบิกเป็นเงินสดออกมาได้ภายใน 6 เดือนตามระยะเวลาโครงการไม่ขัดกับกฎหมาย แต่ถ้าไม่เก็บกลับภายในระยะเวลาโครงการและยังปล่อยให้มีการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายต่อจะถือว่าขัดต่อกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นสกุลเงินใหม่

3.พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน จากการตีความการดำเนินนโยบายตามข้อกฎหมายฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขัดต่อข้อกฎหมาย เพราะผิดวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสิน ซึ่งไม่สามารถให้รัฐยืมเงินได้ เพราะมาตรา 7 พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน กำหนดวัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจธนาคาร 8 ข้อ คือ 1.รับฝากเงินออมสิน 2. ออกพันธบัตรออมสิน และสลากออมสิน

3. รับฝากเงินออมสินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว 4. ทําการรับจ่ายและโอนเงิน 5. ซื้อหรือขายพันธบัตรรัฐบาลไทย 6. ลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งรัฐมนตรีอนุญาต 7. การออมสินอื่น ๆ ตามที่จะมีพระราชกฤษฎีกากําหนดไว้ 8. กิจการอันพึงเป็นงานธนาคาร ตามที่จะมีพระราชกฤษฎีกากําหนดไว้ ทั้งนี้ ให้ประกอบได้ตามข้อกําหนดและเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง

 

เปิดผล กฤษฎีกา ตีความ 3 กฎหมาย เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท

แหล่งข่าว ระบุกับฐานเศรษฐกิจอีกว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ นั้น อนุกรรมการหลายคนได้แสดงความกังวลว่า หากมีการเก็บกลับ ก็ทำให้เงินไม่หหมุนต่อ ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลต้องการและการเก็บกลับ รัฐบาลต้องหางบประมาณมาจ่ายให้กับพ่อค้าที่ได้รับเงินดิจิทัลจากประชาชน ซึ่งงบประมาณที่รัฐบาลต้องใช้จะมีจำนวนสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท แต่ไม่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้ จึงต้องหาเงินจากแหล่งอื่นมาจ่ายแทน

นอกจากนี้หากมีการนำมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาใช้ โดยให้รัฐวิสาหกิจดำเนินโครงการแทนรัฐบาลไปก่อนแล้ว รัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยให้ภายหลัง ก็จะมีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล 2-3% สร้างภาระทางการคลังยะระยาว เสี่ยงถูก ป.ป.ช. สตง. ดำเนินคดี

 

เปิดผล กฤษฎีกา ตีความ 3 กฎหมาย เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท

 

นอกจากนี้ยังมีการหารือกันอย่างกว้างขวางในที่ประชุมอนุกรรมการ คือ จะมีการการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้ได้อย่างไร แต่ที่ประชุมก็ยังไม่สามารถหาแนวทางป้องกันได้ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตอนนี้เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย ฝ่ายการเมืองตัดสินใจว่า จะมีแนวทางแก้ปัญหาแต่ละเรื่องตามที่หน่วยงานราชการกังวลอย่างไร 

แต่อย่างไรก็ดีในประเด็นนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ ทั้งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่มีคำตอบ หรือแนวทางที่ชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ